Candle-Stealer ยูลแลดตัวสุดท้ายของไอซ์แลนด์

ยูลแลดและกรีลาของไอซ์แลนด์ | โทรลล์คริสต์มาสแห่งไอซ์แลนด์

Richard Chapman
โดย Richard Chapman
ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรอง

An illustration of an old troll woman

ยูลแลด (Yule Lads) ของไอซ์แลนด์คือใคร ดาวเด่นในช่วงเทศกาลคริสต์มาสในไอซ์แลนด์จะเป็นใครไปได้ถ้าไม่ใช่ซานตาคลอสใช่ไหมล่ะ นางยักษ์กรีลา (Gryla) มีบทบาทอะไรในตำนานคริสต์มาสของไอซ์แลนด์ และเจ้าแมวคริสต์มาสแคท (Christmas Cat) คืออะไร อ่านบทความนี้ต่อหากคุณสนใจอยากรู้เกี่ยวกับยูลแลด ตัวละครที่สำคัญที่สุดสำหรับเทศกาลคริสต์มาสของประเทศไอซ์แลนด์

คริสต์มาสเป็นช่วงเวลาแห่งแสงสว่าง ความอบอุ่นหัวใจ ของขวัญ ครอบครัว อาหารเลิศรส รวมถึงความน่าขนพองสยองเกล้าด้วย แต่อันหลังนี้ไม่เกี่ยวข้องกับคริสต์มาสในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ยกเว้นไอซ์แลนด์เนื่องจากไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่ไม่เหมือนใครอยู่แล้ว โดยคนบนโลกนี้ส่วนใหญ่จะไม่รู้จักกรีลาและยูลแลด หรือที่บางครั้งเรียกว่าคริสต์มาสโทรลล์

ไอซ์แลนด์เป็นสถานที่ที่เยี่ยมยอดในการมาเที่ยวในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ดังนั้นอย่าลืมจองที่พักในไอซ์แลนด์ล่วงหน้าเพื่อหาห้องพัก หากคุณต้องการเที่ยวในชนบท คุณสามารถเช่ารถได้ และหากคุณยังอยู่ในขั้นตอนการวางแผนเที่ยวอยู่ คุณสามารถจองตั๋วเครื่องบินไปไอซ์แลนด์ได้ตอนนี้เลย!

แต่จะเรียกว่าน่ากลัวก็อาจจะเป็นพูดเกินไปหน่อย เอาเป็นว่าคอนเซ็ปต์ของซานต้าตามตำนานพื้นบ้านของไอซ์แลนด์นั้นแตกต่างไปจากเรื่องราวที่ทุกคนรู้จักและชื่นชอบในวัฒนธรรมตะวันตกส่วนใหญ่ก็แล้วกัน เพราะแทนที่จะนึกถึงผู้ชายใจดีไว้เคราในชุดแดงขาว ซานต้าของไอซ์แลนด์เป็นโทรลล์สกปรกมอมแมม 13 ตนที่มีแม่เป็นนางยักษ์กินเด็กที่มีนามว่ากรีลา (Gryla)

ตลอดช่วงเวลาอื่นๆ ของปี ซานต้าเวอร์ชันบิดเบี้ยวไม่สมประกอบทั้งสิบสามนี้จะซ่อนตัวอยู่ในป้อมปราการลาวาที่มืดมนที่ดิมมูบอร์กีร์ (Dimmuborgir) แถวๆ พื้นที่มิวาทน์ (Myvatn) ในทางตอนเหนือของไอซ์แลนด์ แต่บางตำนานก็เชื่อว่าพวกนี้อาศัยอยู่บนภูเขาลูกใดลูกหนึ่ง แต่ช่วงวันที่ 11-24 ธันวาคมจะเป็นเวลาที่โทรลล์เหล่านี้ค่อยๆ เดินทางจากบ้านมาทีละตนๆ เพื่อมาก่อกวนจนครบ 13 วัน และแต่ละตนก็มีพฤติกรรมตลกร้ายแตกต่างกันไป โดยมีตั้งแต่ซุกซนไปจนถึงน่ากลัว ซึ่งพวกโทรลล์จะออกป่วนไปทั่วประเทศจนกว่าจะสิ้นสุดเทศกาลคริสต์มาส

ยูลแลดถือเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีเฉลิมฉลองคริสต์มาสเช่นเดียวกับการคนไอซ์แลนด์นิยมให้หนังสือเป็นของขวัญคริสต์มาสและบริโภคเนื้อแกะรมควันในช่วงเทศกาล

ยูลแลดอาศัยที่ดิมมูบอร์กีร์ในทางเหนือของไอซ์แลนด์

ปัจจุบันนี้ภาพลักษณ์ของพวกเขาถูกปรับเปลี่ยนให้ขาวสะอาดขึ้นมามากแล้ว จากที่เคยเป็นโทรลล์รูปร่างพิกลพิการ ตอนนี้ก็เป็นโทรลล์ที่มักจะสวมใส่เสื้อผ้าสีแดงและสีขาวตามแบบสากลนิยม มีหนวดเคราฟูฟ่องและมีรอยยิ้มฉีกกว้าง และจากที่ชอบมาคอยแกล้งรังควาญหลอกชาวบ้าน ก็เปลี่ยนมาเป็นหย่อนของขวัญทิ้งเอาไว้ในรองเท้าที่เด็กๆ นำไปวางไว้บนขอบหน้าต่างแทนคล้ายๆ กับที่ในวัฒนธรรมของชาติอื่นมีการนำถุงเท้าไปแขวนหน้าเตาผิง และจากเดิมที่ถ้าเด็กชาวไอซ์แลนด์คนไหนเป็นเด็กดื้อทำตัวไม่ดี พวกเขาก็จะต้องตื่นเช้ามาพบกับถ่านหิน ก็ถูกเปลี่ยนเป็นว่าจะได้เจอกับหัวมันฝรั่งอยู่ในรองเท้าแทน

ถึงแม้ว่ายูลแลดจะผ่านการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แต่รูปลักษณ์และนิสัยแบบเก่าๆ ของพวกเขาก็บอกเล่าอะไรได้หลายอย่างเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และตำนานพื้นบ้านของไอซ์แลนด์ และยังเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ทั่วโลกมีวิธีการเฉลิมฉลองเทศกาลนี้แตกต่างกันไป

กรีลา | มารดายักษีของยูลแลดแห่งไอซ์แลนด์

มีรูปปั้นกริลามากมายทั่วไอซ์แลนด์ภาพจาก Wikimedia, Creative Commons, โดย Andrii Gladii ภาพจากต้นฉบับไม่ดัดแปลง

ยูลแลดอาจจะมีนิสัยดีขึ้นและเป็นมิตรมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน แต่กรีลาแม่ของพวกเขาก็ยังคงเป็นโทรลล์ที่น่าสะพรึงกลัวอยู่เหมือนเดิมและนางก็ยังนับว่าเป็นตำนานที่อยู่คู่กับคริสต์มาสมายาวนานที่สุดสำหรับประเพณีคริสต์มาสของประเทศไอซ์แลนด์ด้วย

นางยักษีตนนี้เป็นปิศาจชั่วร้ายที่สุดในนิทานพื้นบ้านไอซ์แลนด์และเรื่องราวเกี่ยวกับความน่ากลัวของนางก็ยังคงถูกนำมาเล่าเพื่อข่มขวัญเด็กๆ ในช่วงเทศกาลอยู่ ซึ่งว่ากันว่านางใช้เวลาตลอดทั้งปีคอยเก็บรวบรวมข้อมูลจากเสียงซุบซิบเกี่ยวกับเด็กๆ ที่ทำตัวไม่ดีทั่วทั้งเกาะ และเมื่อฤดูหนาวมาเยือนนางก็จะออกเดินทางมาจัดการกับพวกเขา

นางกรีลายังมีนิสัยชอบกินเนื้อเด็กที่ดื้อและซนด้วย และนางกินเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักอิ่มอีกต่างหาก และนางก็พบว่ามีเด็กดื้อให้นางจับกินมากมายไม่หมดไม่สิ้นทุกปี โดยนางจะจับเด็กพวกนี้ใส่กระสอบเก็บไว้แล้วค่อยนำไปต้มในหม้อรวมกันเป็นสตูว์หม้อยักษ์ทีเดียว ซึ่งอาหารอันโอชะนี้มีปริมาณมากพอที่จะทำให้นางกรีลาอิ่มหนำไปตลอดจนถึงฤดูหนาวครั้งหน้าทีเดียว

นางกรีลามีแมวคริสต์มาสเอาไว้ข่มขวัญเด็กๆ ในไอซ์แลนด์ภาพโดย Regína Hrönn Ragnarsdóttir 

ลำพังแค่นางกรีลาตนเดียวก็เป็นฝันร้ายของเด็กๆ ชาวไอซ์แลนด์มากพอแล้ว แต่โชคร้ายยังไม่หมดแค่นั้นเพราะนางไม่ได้ทำงานนี้ลำพัง แต่มีแมวเป็นลูกสมุนตัวหนึ่งด้วย โดยเจ้าแมวสีดำตัวมหึมาที่ชื่อว่าคริสต์มาสแคท (Christmas Cat) นี้อาศัยอยู่ด้วยกันกับนางกรีลาในถ้ำบนภูเขาทางตอนเหนือของไอซ์แลนด์ และเจ้าเหมียวก็ดันชอบกินเนื้อมนุษย์เหมือนกันเสียด้วย

แมวเหมียวคริสต์มาสแคทนั้นไม่ได้คอยสอดส่องมองหาเด็กที่ทำตัวไม่ดีเท่านั้น แต่ว่ามันยังชอบวิ่งไล่เด็กที่ไม่สวมใส่เสื้อผ้าชุดใหม่ในวันคริสต์มาสด้วย

นอกจากแมวแล้ว นางกรีลายังอาศัยอยู่กับสามีคนล่าสุดที่เป็นโทรลล์ชื่อเลปปาลูดิ (Leppaludi) และเลปปาลูดิเป็นคนที่น่ากลัวน้อยกว่าใครๆ หากเทียบกับสมาชิกในครอบครัวนี้ และมักถูกมองว่าน่าสมเพชอีกต่างหาก บางทีนั่นอาจจะเป็นเพราะว่านางกรีลาได้กินสามีคนเก่าๆ ของนางไปจนหมดแล้วก็ได้ ทำให้เลปปาลูดิไม่ค่อยกล้าหือต่อพฤติกรรมชั่วร้ายที่นางกรีลาทำ

เรื่องราวของนางกรีลาบอกอะไรมากมายเกี่ยวกับขนบประเพณีของชาวไอซ์แลนด์ในสมัยก่อน การที่นางกรีลาออกไล่จับเด็กมากินในช่วงเทศกาลและการที่ซานต้านำถ่านหินมาให้นั้นเป็นการส่งสารไปถึงเด็กๆ ในทำนองเดียวกันว่าให้ทำตัวให้ดีที่สุดในระหว่างเทศกาลคริสต์มาส!

การที่เรื่องราวที่สร้างขึ้นออกแนวโหดร้ายนั้นอาจจะเป็นเพราะว่าฤดูหนาวในไอซ์แลนด์เต็มไปด้วยอันตรายอย่างไม่น่าเชื่อ และหากเด็กๆ ไม่เชื่อฟังแล้วออกไปเล่นท่ามกลางความมืดและหิมะพวกเขาก็อาจจะไม่ได้กลับบ้านอีกเลย นอกจากนี้ยังอาจเป็นเพราะมีงานให้ทำมากมายก่อนที่จะถึงเดือนที่มืดที่สุดของปี และสมาชิกทุกคนในบ้านจำเป็นต้องขยันและอดทนมากเป็นพิเศษ

ส่วนเรื่องแมวคริสต์มาสแคทกินเด็กที่ไม่สวมเสื้อผ้าใหม่ที่ได้รับเป็นของขวัญอาจจะเป็นอุบายให้ทุกคนทำงานเย็บปักถักร้อยของตนให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่จะถึงช่วงเวลาที่หนาวจัด

กรีลาเป็นโทรลล์ตัวเหม็นที่กินเด็กภาพโดย Regína Hrönn Ragnarsdóttir 

เรื่องของนางกรีลาน่ากลัวมากสำหรับเด็กชาวไอซ์แลนด์จนในศตวรรษที่ 18 รัฐสภาของไอซ์แลนด์ออกกฎหมายห้ามไม่ให้นำตำนานเรื่องนี้มาขู่เด็กอีก เด็กๆ จึงไม่ต้องกลัวการถูกจับกินอีกต่อไป ยังคงเหลือเพียงคำขู่ที่ว่าหากทำตัวไม่ดีพวกเขาจะได้รับมันฝรั่งเน่าในรองเท้าแทน

ปัจจุบันนี้รูปปั้นของนางกรีลาสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในไอซ์แลนด์ เช่น ในบ้านคริสต์มาสอาคูเรย์ริ (Christmas House) ในเมืองอาคูเรย์ริ และบริเวณข้างๆ ฟอซซาตุน (Fossatun) เนื่องจากนางมีบทบาทสำคัญอย่างมากในประเพณีคริสต์มาสของชาวไอซ์แลนด์ หลายคนเชื่อว่าบ้านของนางอยู่ในดิมมูบอร์กีร์ ซึ่งมีทัวร์จากอาคูเรย์ริจำนวนมากที่พาไปเยี่ยมชม โดยอาคูเรย์ริได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงทางตอนเหนือของไอซ์แลนด์ และเป็นจุดแวะพักบนเส้นทางท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างไดมอนด์เซอร์เคิลหรือวงกลมเพชร (Diamond Circle) ด้วย

อีกทั้งยังสามารถเดินทางไปชมได้ง่าย โดยมีทั้งทัวร์ขับรถเที่ยวเองหน้าหนาว และแพ็คเกจทัวร์สำหรับวันหยุดระยะยาวให้บริการเป็นจำนวนมาก

ยูลแลดทั้งสิบสามแห่งไอซ์แลนด์

ภาพถ่ายยูลแลดสมัยใหม่ภาพจาก พบกับยูลแลดที่ดิมมูบอร์กีร์ มิวาทน์ 

ในวัฒนธรรมสมัยใหม่ เมื่อถึงช่วงคริสต์มาสยูลแลดทั้งสิบสามตนจะลงมาจากภูเขาเพื่อไปร่วมงานเฉลิมฉลองทั่วประเทศ พวกเขาจะเล่นกับเด็กๆ ให้ความสนุกสนานกับผู้คน และมีส่วนช่วยทำให้ไอซ์แลนด์ในช่วงคริสต์มาสมีความสุขมากยิ่งขึ้น แต่เรื่องนี้ก็เป็นตำนานพื้นบ้านไอซ์แลนด์ในเวอร์ชันปรับแต่งใหม่เพื่อให้มีความเหมาะสมกับครอบครัวมากขึ้น 

แม้ว่าพวกยูลแลดจะไม่ได้สืบทอดการกินเนื้อคนมาจากแม่ของพวกเขา แต่โทรลล์คริสต์มาสแห่งไอซ์แลนด์ก็ยังเป็นที่หวาดกลัวของเด็กๆ ทั่วไปอยู่เนื่องจากมีพฤติกรรมประหลาดที่น่าขยะแขยง แม้แต่ผู้ใหญ่ในไอซ์แลนด์ก่อนยุคอุตสาหกรรมก็เชื่อเรื่องโทรลล์กันเป็นส่วนใหญ่ และหลายคนก็หวาดระแวงกลัวว่านิทานเรื่องคริสต์มาสเหล่านี้จะเป็นความจริง

แม้ว่ายูลแลดแต่ละตนจะมีอุปนิสัยใจคอแตกต่างกันไป แต่ทั้งหมดเป็นโทรลล์ขนาดมหึมา สกปรก ไร้ปัญญา และมีรูปร่างหน้าตากึ่งมนุษย์กึ่งอสุรกายเหมือนกันหมด และพวกโทรลล์สามารถออกมาได้เฉพาะในเวลากลางคืนเท่านั้นและจะกลายเป็นหินหากโดนแสงอาทิตย์

Stekkjastaur | Sheep Cote Clod

Sheep Cote Clod เป็นยูลแลดตัวแรกที่มาป่วนภาพประกอบโดย Haukur Valdimar Pálsson

ยูลแลดตนแรกที่เดินทางลงมาจากภูเขาและออกก่อกวนไปทั่วไอซ์แลนด์ชื่อว่าสเต็กก์จาสทอร์ (Stekkjastaur) หรือภาษาอังกฤษเรียก 'Sheep-Cote Clod' โดยหน้าที่ของยูลแลดตนนี้คือคอยรังควาญแกะที่คนเลี้ยงไว้ตามบ้านเรือนต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 12-26 ธันวาคม

โดยปกติแล้วชาวไอซ์แลนด์มักจะเก็บแกะไว้ใต้ดินในฤดูหนาว เมื่อไหร่ที่เสียงกรีดร้องอย่างโหยหวนแสดงถึงความทุกข์ทรมานของพวกมันดังก้องเข้าไปในบ้าน นั่นแสดงว่าสเต็กก์จาสทอร์พบพวกมันเข้าแล้ว และแม้ว่าเสียงดังกล่าวจะพบได้บ่อยในฤดูหนาวที่มีพายุพัดกระหน่ำถาโถมเข้าใส่ฝูงสัตว์เป็นประจำ แต่มันจะยิ่งทวีความน่าวิตกมากขึ้นเมื่อคิดว่าแกะเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญกับฟาร์มทุกแห่งเป็นอย่างมาก

แม้จะเป็นโทรลล์ที่น่ากลัว แต่สเต็กก์จาสทอร์ก็เหมือนกับพี่น้องอีกหลายตนที่มีความพิกลพิการไม่สมประกอบ โดยเจ้าโทรลล์ตนนี้มีขาที่แข็งทื่อ ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำเมื่อได้ยินเสียงโทรลล์ข่มขู่สัตว์ในบ้านก็คือให้อดทนรอสักหน่อยเดี๋ยวมันก็จากไปเอง เพราะมันจะต้องเข้าบ้านอื่นๆ ด้วย เพื่อหาเหยื่อให้ได้มากที่สุดก่อนพระอาทิตย์ขึ้น

Giljagaur | Gully Gawk

ยูลแลดตัวที่สองคือ Gully Gawkภาพประกอบโดย Haukur Valdimar Pálsson

กิลยากร์ (Giljagaur) หรือ 'Gully Gawk' เป็นยูลแลดไอซ์แลนด์ตนที่สองที่มาเยือนชุมชนที่มนุษย์อาศัยอยู่ โดยจะซ่อนตัวอยู่ในท่อหรือร่องน้ำรอบๆ บ้าน รอจนกว่าชาวบ้านจะหลับ แล้วค่อยบุกเข้าไปในคอกวัวเพื่อขโมยนม

ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ครอบครัวชาวไอซ์แลนด์ใช้ทำซอสสำหรับรับประทานในช่วงคริสต์มาส นี่ยังไม่นับสกีร์ (Skyr) ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านของชาวไอซ์แลนด์อีกอย่างด้วย

และแม้ว่าสมัยนั้นจะมีแค่คนรวยเท่านั้นที่สามารถเป็นเจ้าของวัวได้ แต่คนจนส่วนมากก็อาศัยอยู่ในฟาร์มของคนรวย ดังนั้นการกระทำของโทรลล์ขโมยนมจึงกระทบกับคนจำนวนมาก

Stufur | Stubby

Stufur หรือ Stubby ยูลแลดไอซ์แลนด์อีกหนึ่งตัวภาพประกอบโดย Haukur Valdimar Pálsson

ยูลแลดตัวที่สามชื่อสตูฟูร์ (Stufur) หรือ 'Stubby' ผู้รับหน้าที่ก่อกวนชาวบ้านทั่วไอซ์แลนด์ในช่วงคริสต์มาสตั้งแต่วันที่ 14 ถึง 26 ธันวาคม โดยจะขโมยกระทะในครัว เพื่อกินเศษขนมอบอร่อยๆ ที่ยังเหลือติดอยู่ และเจ้าโทรลล์ตัวนี้กินเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักอิ่มเสียด้วย

แม้ว่าสิ่งนี้อาจดูเหมือนไม่ใช่อาชญากรรมร้ายแรง แต่ในอดีตหม้อและกระทะเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างเหลือเชื่อในไอซ์แลนด์ เพราะไอซ์แลนด์ไม่ได้มีเหล็กหรืออุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นของตัวเอง สินค้าดังกล่าวต้องนำเข้ามาและมีราคาแพงมาก และสำหรับบางครอบครัวที่ยากจนสิ่งเหล่านี้ถือเป็นทรัพย์สินล้ำค่าเพียงอย่างเดียวที่พวกเขามี

Thvorusleikir | Spoon-Licker

Spoon-Licker คริสต์มาสโทรลล์อีกหนึ่งตัวของไอซ์แลนด์ภาพประกอบโดย Haukur Valdimar Pálsson

โทวรูสเลกิร์ (Thvorusleikir) ยูลแลดตัวที่สี่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า 'Spoon-Licker' โทรลล์คริสต์มาสตัวนี้ออกตระเวนก่อกวนทั่วประเทศในวันที่ 15 ธันวาคมของทุกปี โดยจะบุกเข้าไปในบ้านของชาวไอซ์แลนด์เพื่อเลียช้อนกินเศษอาหาร

พฤติกรรมของโทวรูสเลกิร์เป็นผลพวงมาจากความพิการที่แปลกประหลาดของเขา เขามีรูปร่างผ่ายผอมอย่างไม่น่าเชื่อจากการขาดสารอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกมากในหมู่โทรลล์ซึ่งมักจะมีรูปร่างอ้วนและกำยำ

เรื่องราวของเจ้าโทรลล์เลียช้อนตัวนี้ถูกนำมาใช้สอนเด็กๆ เช่นเดียวกับเรื่องของยูลแลดตนอื่นๆ แต่อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปอย่างเช่นเด็กๆ ควรกินอาหารให้เกลี้ยงไม่เหลือติดช้อน

Pottaskefill | Pot-Scraper

Pot-Scraper หรือ Pottaskefill ยูลแลดของไอซ์แลนด์อีกหนึ่งตัวภาพประกอบโดย Haukur Valdimar Pálsson

พอตตาสเกฟิลล์ (Pottaskefill) หรือที่รู้จักกันในภาษาอังกฤษว่า 'Pot-Scraper' ก็เหมือนกับพี่น้องอีกหลายคนที่ออกมาแสดงตลกร้ายในช่วงคริสต์มาสด้วยนิสัยตระกละตะกลาม  เจ้าตัวนี้จะบุกเข้าไปตามบ้านเรือนหลังแล้วหลังเล่าเพื่อค้นหาหม้อซอส และเก็บเศษเนื้อย่าง เศษผัก หรืออะไรก็ได้ที่เหลืออยู่ในถาดหรือกระทะใส่ปาก

ซึ่งก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเรื่องราวของพอตตาสเกฟิลล์ถูกสร้างขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เด็กทานอาหารให้เรียบร้อยหมดเกลี้ยง เพราะอาหารที่เหลืออาจจะส่งกลิ่นเรียกโทรลล์ให้มาเยือน ซึ่งเมื่อก่อนอาหารเป็นของมีค่าที่ชาวไอซ์แลนด์ต้องถนอมเก็บไว้กินตลอดฤดูหนาวอันยาวนาน ดังนั้นใครกินเหลือจึงมักจะถูกตำหนิอย่างแรง เพราะหากอาหารหมดก่อนที่ฤดูร้อนจะมาถึงก็คงไม่มีใครอยากออกเรือไปจับปลาในทะเลที่ปั่นป่วนในหน้าหนาว หรือออกไปเชือดสัตว์ท่ามกลางอากาศหนาวจัด

Askasleikir | Bowl-Licker

Bowl-Licker หนึ่งในยูลแลดสิบสามตัวของไอซ์แลนด์ภาพประกอบโดย Haukur Valdimar Pálsson

นอกจากจะมี Gully-Gawk ขโมยนม Stubby แคะเศษอาหารติดกระทะ Pot-Scraper กินเศษอาหารที่เหลือ และ Spoon-Licker ที่ผ่ายผอมรอเลียเศษอาหารจากช้อนแล้วก็ยังมีโทรลล์ตัวที่หกชื่ออาสกาสเลกิร์ (Askasleikir) อีก​​ ซึ่งเจ้าตัวนี้น่าจะมีพฤติกรรมในการหาอาหารที่ประหลาดที่สุด

ชื่อภาษาอังกฤษของอาสกาสเลกิร์คือ 'Bowl-Licker' และเจ้านี่ก็ชอบซดเศษซุปที่เหลือติดชาม หรืออาสกูร์ "askur" ซึ่งเป็นชามแกะจากไม้และมีฝาปิดแบบไอซ์แลนด์ แต่วิธีที่โทรลล์ตนนี้กินอาหารนั้นสร้างความน่าตกใจหน่อยๆ

ในแต่ละคืนอาสกาสเลกิร์จะแอบอยู่ใต้เตียงรอให้เด็กๆ กินซุปหรือพุดดิ้งมื้อดึกเสร็จก่อน และเมื่อเด็กๆ อิ่มแล้ว มันก็จะหยิบชามมาซดอาหารที่เหลือต่อ บางทีเรื่องนี้อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เด็กๆ รีบเข้านอนทันทีที่ผู้ใหญ่บอก หรือเป็นอุบายไม่ให้เด็กกินของว่างมื้อดึกอีกเพราะจะเป็นการชักนำสัตว์ประหลาดมาใต้เตียง 

Hurdaskellir | Door-Slammer

Door-Slammer เป็นยูลแลดอีกหนึ่งตนที่น่ากลัวภาพประกอบโดย Haukur Valdimar Pálsson

ฮูร์ดาสเกลลิร์ (Hurdaskellir) เรียนรู้วิธีก่อกวนมาจากเรื่องแต่งที่เก่าแก่ที่สุดเรื่องหนึ่ง ในภาษาอังกฤษชื่อของเขาคือ 'Door-Slammer' และเจ้าโทรลล์ตัวนี้ก็ตั้งใจใช้เวลาสิบสามวันในช่วงเทศกาลวันหยุดเพื่อแกล้งคนด้วยการกระแทกประตูเสียงดังๆ

โดยจะแอบเข้าออกบ้านหลังนู้นหลังนี้ไปเรื่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่แถบปลายฟยอร์ดทางตะวันตก และใจกลางเมืองเรคยาวิกที่พลุกพล่านเพื่อกระแทกประตูบ้านให้คนตกใจตื่นให้ได้มากที่สุดไปจนกระทั่งถึงสิ้นเดือน 

และไม่ต้องสงสัยเลยว่าด้วยลมที่พัดแรงในฤดูหนาวของไอซ์แลนด์และลักษณะของบ้านเทิร์ฟแบบไอซ์แลนด์ที่ไม่ได้มั่นคงถาวรนัก เด็กจำนวนมากมายจึงต้องหวาดผวาตกใจตื่นในช่วงเทศกาลคริสต์มาส โดยเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมว่าเสียงที่ได้ยินคือเสียงฮูร์ดาสเกลลิร์มาเยือนบ้านของพวกเขา

Skyrgamur | Skyr-Gobbler

ยูลแลดตัวที่แปดนี้ชอบขโมยสกีร์อันโอชะของชาวไอซ์แลนด์ภาพประกอบโดย Haukur Valdimar Pálsson

ใครก็รู้ว่าช่วงเทศกาลคริสต์มาสจะมีอาหารจานพิเศษของปีให้เพลิดเพลินมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ปีกปรุงสุกหอม ถั่วอบ พายเนื้อบด ขนมปังขิง ซินนามอนโรล และขนมอีกมากมาย แต่สำหรับชาวไอซ์แลนด์เมนูพิเศษในช่วงนี้มีอยู่อย่างหนึ่งที่น่าสนใจมาก และนั่นก็คือสกีร์ (Skyr) ที่หอมมันอร่อย

เมนูจากนมเมนูนี้มีรสอร่อยและดีต่อสุขภาพด้วย และยังถือว่าเป็นของโปรดของชาวไอซ์แลนด์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับเมนูพิสดารอย่างปลาฉลามหมักและอัณฑะของแกะ

แม้จะสามารถกินสกีร์ได้ตลอดทั้งปี แต่สกีร์ในช่วงคริสต์มาสจะมีความอร่อยมากเป็นพิเศษ เพราะเสิร์ฟมาเพื่อตัดเลี่ยนจากการรับประทานเนื้อย่างก้อนใหญ่ตามแบบฉบับของมื้อพิเศษในวันเทศกาล

และว่ากันตามตำนานในช่วงคริสต์มาสของชาวไอซ์แลนด์ ไม่ได้มีแค่มนุษย์เท่านั้นที่อยากกินสกีร์ แม้แต่ยูลแลดเองก็ชอบเมนูนี้เช่นกัน โดยสกีร์เป็นของโปรดของยูลแลดไอซ์แลนด์ตัวที่แปดที่มีชื่อเรียกว่าสกีร์กามูร์ (Skyrgamur) หรือ 'Skyr-Gobbler'

ตั้งแต่วันที่ 18 ถึงวันที่ 30 อาหารอันโอชะประจำชาติของชาวไอซ์แลนด์ ซึ่งสามารถใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารทั้งคาวและหวานนี้จะถูกเฝ้าระวังอย่างดีไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของโทรลล์ชั่วร้ายตนนี้

Bjugnakraekir | Sausage-Snatcher

ยูลแลดอีกตัวของไอซ์แลนด์ Sausage Snatcher .ภาพประกอบโดย Haukur Valdimar Pálsson

การรมควันเนื้อสัตว์เป็นวิธีการปรุงอาหารยอดนิยมในไอซ์แลนด์ โดยตลอดทั้งปีชาวไอซ์แลนด์นิยมรับประทานปลารมควัน แกะรมควัน รวมถึงไส้กรอกรมควันที่เรียกว่า "บยูกา" (bjuga) 

แต่ตั้งแต่คืนวันที่ 20 เป็นต้นไปผู้คนต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษในการเตรียมไส้กรอกบยูกา เพราะว่าเป็นอาหารเพียงอย่างเดียวที่ตกเป็นเป้าหมายของยูลแลดชื่อบยูกนากราเอกิร์ (Bjugnakraekir) หรือ ‘Sausage-Snatcher’

โดยเจ้าโทรลล์จะมาขโมยไส้กรอกแสนอร่อยของชาวไอซ์แลนด์ โดยแอบย่องเข้าบ้านและห้อยตัวอยู่บนขื่อเพื่อรอให้อาหารเย็นปรุงจนเสร็จแล้วมันจึงค่อยโหนตัวลงมาฉกไป

Gluggagaegir | Window-Peeper

Window Peeper เป็นยูลแลดที่จ้องขโมยของเล่นในช่วงคริสต์มาสภาพประกอบโดย Haukur Valdimar Pálsson

ยูลแลดตัวที่สิบที่ลงเขามาในช่วงคริสต์มาสน่าจะเป็นตัวที่ประหลาดที่สุดแล้ว ตัวนี้ชื่อว่ากลูกกาแกกิร์ (Gluggagægir) หรือ ‘Window-Peeper’

ฤดูหนาวของไอซ์แลนด์เต็มไปด้วยความมืดมิด โดยในช่วงคริสต์มาสจะมีแสงสว่างเพียงวันละ 4 ชั่วโมงเท่านั้น ทำให้เด็กๆ มักจะหวาดกลัวเวลาที่ต้องเดินผ่านหน้าต่างบ้านในคืนวันคริสต์มาส และมักจินตนาการว่ามีโทรลล์กำลังยืนแอบดูพวกเขาอยู่ที่หน้าต่าง

เช่นเดียวกับยูลแลดตัวอื่นๆ พฤติกรรมของกลูกกาแกกิร์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกให้เด็กๆ กลัวความมืดจนไม่กล้าออกไปเล่นข้างนอกในฤดูหนาว และยังเป็นสิ่งที่คอยเตือนเด็กๆ ว่ากรีลายักษ์กินเด็กนั้นมีสมุนคอยสอดส่องหาเด็กที่ไม่เชื่อฟังอยู่ทั่วไอซ์แลนด์

Gattathefur | Doorway-Sniffer

ยูลแลดตัวที่สิบเอ็ดคือ Doorway-Snifferภาพประกอบโดย Haukur Valdimar Pálsson

กัตตาเทเฟอร์ (Gattathefur) หรือ ‘Doorway-Sniffer’ อาจจะเข้ามามีบทบาทในตำนานพื้นบ้านเนื่องจากเสียงลมหวีดหวิวที่พัดผ่านบ้านเทิร์ฟของชาวไอซ์แลนด์ โดยโทรลล์ตัวนี้เหมือนกับ Window-Peeper และ Door-Slammer ตรงที่พวกมันแอบเข้ามาในบ้านเพื่อสร้างความหวาดผวาให้กับเด็กๆ ชาวไอซ์แลนด์

แต่ยิ่งเพิ่มความน่ากลัวให้กับโทรลล์ตัวนี้ด้วยการบอกว่ามันมีจมูกที่ใหญ่โตมากแม้เทียบกับพวกโทรลล์ด้วยกัน และมักจะทำจมูกฟุดฟิดดมหากลิ่นอาหารเมนูโปรดที่เรียกว่าขนมปังใบไม้ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของชาวไอซ์แลนด์

ขนมแสนอร่อยชนิดนี้จะทำขึ้นเฉพาะในช่วงคริสต์มาสเท่านั้น และถือเป็นกิจกรรมที่ทุกคนในครอบครัวต้องช่วยกันโดยเฉพาะในแถบทางเหนือของประเทศ  ขนมปังใบไม้นี้มีรูปร่างกลมและบางมากและมักจะทำลวดลายฉลุให้ดูเหมือนใบไม้

และด้วยลวดลายที่พิถีพิถันแบบนี้เองที่รบกวนจิตใจของกัตตาเทเฟอร์ ทำให้มันอยากมาขโมยขนมไปเสียก่อนที่ขนมสวยๆ จะสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่ได้พบเห็นเป็นคนแรก

Ketkrokur | Meat-Hook

ยูลแลดตัวรองสุดท้าย Ketkrokur หรือ Meat-Hookภาพประกอบโดย Haukur Valdimar Pálsson

ธรรมเนียมการรับประทานอาหารของแต่ละครอบครัวในช่วงคริสต์มาสอาจจะแตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องมีเหมือนกันในงานเลี้ยงฉลองของทุกบ้านคือเนื้อสัตว์ ซึ่งในตำนานพื้นบ้านของชาวไอซ์แลนด์ เนื้อสัตว์เหล่านี้นี่เองที่เป็นเป้าหมายของยูลแลดขี้ขโมยตัวที่สิบสองรองสุดท้ายที่ชื่อว่าเค็ทโครกูร์ (Ketkrókur) หรือ ‘Meat-Hook’

โดยเจ้านี่จะซ่อนตัวอยู่ตามพื้นที่ครัว (หลังประตู ใต้โต๊ะ ในตู้ หรือนอกหน้าต่าง) และแอบจ้องมองเนื้อสัตว์ที่ถูกนำออกมาแขวนเหนือเคาน์เตอร์ และเมื่อเจ้าของบ้านเผลอมันก็จะหยิบตะขอออกมาตวัดเอาเนื้อชิ้นสำคัญสำหรับมื้ออาหารของบ้านไป

แต่โทรลล์ตัวนี้ต่างไปจากโทรลล์บยูกนากราเอกิร์ตัวพี่ที่ขโมยแต่ไส้กรอกรมควัน เค็ทโครกูร์นั้นไม่เลือก และมันจะอดทนรอให้คนในบ้านนอนหลับก่อนค่อยขโมยเนื้อสัตว์อะไรก็ได้ที่แขวนอยู่ไป

Kertasnikir | Candle-Stealer

Candle-Stealer ยูลแลดตัวสุดท้ายของไอซ์แลนด์ภาพประกอบโดย Haukur Valdimar Pálsson

ยูลแลดตัวสุดท้ายชื่อแคร์ตาสนิกิร์ (Kertasnikir) ซึ่งแปลว่าจอมขโมยเทียน หรือ ‘Candle-Stealer’ เจ้านี่จะปรากฏตัวในวันคริสต์มาสอีฟของไอซ์แลนด์ และเช่นเดียวกันกับพี่น้องทั้งสิบสองของมัน ชื่อของโทรลล์ตัวนี้ก็อธิบายถึงพฤติกรรมของมันได้อย่างชัดเจน และการขโมยเทียนก็สร้างความลำบากให้กับผู้คนได้มากกว่าที่คิด

สมัยก่อนนั้นเทียนเป็นของมีค่ามากในไอซ์แลนด์ เพราะเป็นสิ่งที่ให้แสงสว่างตลอดฤดูหนาวอันมืดมิด ซึ่งในช่วงคริสต์มาสนั้นมืดนานกว่าวันละยี่สิบชั่วโมงเสียด้วย และเทียนยังเป็นอุปกรณ์เพียงอย่างเดียวที่ช่วยให้ชาวไอซ์แลนด์สามารถทำกิจกรรมฆ่าเวลาที่โปรดปรานมาช้านานอย่างการอ่านหนังสือได้

ซึ่งวัฒนธรรมการอ่านหนังสือเพื่อฆ่าเวลาในฤดูหนาวนี้ทำให้การกลั่นแกล้งของแคร์ตาสนิกิร์สร้างความลำบากให้กับผู้คนได้อย่างมาก แล้วเจ้าโทรลล์ก็ไม่ได้ขโมยเทียนไปเพื่อใช้อ่านนิยายหรือบทกวี แต่มันเอาไปเพื่อกัดกินไขมันสัตว์ที่ใช้ทำเป็นเทียนต่างหาก

และเพื่อให้ได้ก้อนไขมันมากที่สุด มันจึงต้องไปขโมยมาจากเหยื่อที่หลอกง่ายที่สุดในบ้าน ซึ่งก็คือเด็กๆ นั่นเอง โดยจะคอยตามเด็กๆ เข้าไปในห้องนอนหรือมุมอ่านหนังสือและแย่งเทียนไปจากมือเด็กๆ โดยตรง

ดังนั้นแคร์ตาสนิกิร์จึงเป็นยูลแลดที่สร้างปัญหาป่วนกวนใจได้มากที่สุด และเป็นตัวที่ทำให้เด็กๆ กลัวมากที่สุดด้วย แต่ก็ยังดีที่เจ้านี่มาถึงเมืองเป็นตัวสุดท้าย และในอีกสิบสามวันเจ้าโทรลล์ตนนี้ (พร้อมด้วยบรรดาพี่ชาย และแม่ของมัน รวมถึงแมวของนาง) ก็จะกลับเข้าถ้ำในทางเหนือของไอซ์แลนด์ไปอยู่กันอย่างสงบจนกว่าจะถึงเทศกาลคริสต์มาสครั้งต่อไป

ในยุคปัจจุบันนี้ ยูลแลดได้กลายเป็นตำนานที่เป็นมิตรกับครอบครัวมากขึ้นและยังเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นขโมยด้วย โดยแคร์ตาสนิกิร์ ยูลแลดตัวสุดท้ายนั้นจะมอบของขวัญให้กับเด็กชาวไอซ์แลนด์ก่อนวันคริสต์มาส ซึ่งของขวัญที่โทรลล์ตัวนี้นำมาแจกให้กับเด็กๆ ที่ประพฤติตัวดีก็คือเทียนไขนั่นเอง

บทความที่ได้รับความนิยม

บทความอื่นที่น่าสนใจ

Link to appstore phone
ติดตั้งแอปท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไอซ์แลนด์

ดาวน์โหลดตลาดการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไอซ์แลนด์ลงในโทรศัพท์ของคุณเพื่อจัดการการเดินทางทั้งหมดของคุณได้ในที่เดียว

สแกนรหัส QR นี้ด้วยกล้องในโทรศัพท์ของคุณแล้วกดลิงก์ที่ปรากฏขึ้นเพื่อเพิ่มตลาดการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไอซ์แลนด์ไว้ในกระเป๋าของคุณ เพิ่มหมายเลขโทรศัพท์หรือที่อยู่อีเมลของคุณเพื่อรับ SMS หรืออีเมลพร้อมลิงก์ดาวน์โหลด