อาหารไอซ์แลนด์: คู่มือแนะนำวัฒนธรรมการกินในไอซ์แลนด์

อาหารไอซ์แลนด์: คู่มือแนะนำวัฒนธรรมการกินในไอซ์แลนด์

ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรอง
ไปที่เรื่อง

มาทำความรู้จักกับอาหารไอซ์แลนด์และดูว่าที่ไอซ์แลนด์มีเมนูอะไรน่ากินบ้างในบทความนี้ อาหารไอซ์แลนด์เป็นแบบไหน? อาหารไอซ์แลนด์ที่ขึ้นชื่อมีอะไรบ้าง? จริงหรือไม่ที่ชาวไอซ์แลนด์กินแต่ปลาแห้งและฉลามหมัก? นักท่องเที่ยวควรกินอะไรเมื่อมาเที่ยวไอซ์แลนด์? อ่านบทความนี้เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบในการทำอาหารที่ทำให้อาหารของชาตินี้มีความพิเศษ!

ในเมืองหลวงของไอซ์แลนด์มีร้านอาหารดีๆ อยู่มากมาย ดังนั้นคุณอย่าลืมจองที่พักในเมืองเรคยาวิกเอาไว้ด้วยถ้าหากคุณต้องการมาสัมผัสกับวัฒนธรรมการกินของประเทศนี้ สำหรับการเดินทางภายในเมือง เราแนะนำให้คุณจองรถเล็กราคาประหยัดเพื่อขับเที่ยวในเรคยาวิกและพื้นที่ชนบท หากต้องการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาหาร คุณสามารถจองทัวร์ชิมอาหารไอซ์แลนด์ ซึ่งมีไกด์ท้องถิ่นพาคุณไปลองชิมอาหารหลากหลายชนิด



ในอดีตไอซ์แลนด์มีทรัพยากรน้อยนิดและการขาดแสงแดดก็ทำให้การเกษตรกรรมมีข้อจำกัดอย่างมาก อีกทั้งยังไม่มีสัตว์ป่าให้ล่าและด้วยที่ตั้งอันห่างไกลในเขตอาร์กติกเซอร์เคิลทำให้การนำเข้าอาหารและสินค้าเป็นไปได้ยากยิ่ง ดังนั้นวัฒนธรรมการกินอาหารของชาวไอซ์แลนด์จึงเรียบง่ายและสะท้อนถึงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอันโหดร้ายที่ชาวไอซ์แลนด์ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดมานานหลายศตวรรษ

แต่ยังโชคดีที่ไอซ์แลนด์ล้อมรอบด้วยมหาสมุทรแอตแลนติกเหนืออันอุดมสมบูรณ์ และประเทศนี้มีแหล่งน้ำจืดและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่สะอาดบริสุทธิ์ และเพราะมีเทคโนโลยีสมัยใหม่และพลังงานความร้อนใต้พิภพที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ จึงทำให้ชาวไอซ์แลนด์สามารถเพาะปลูกวัตถุดิบสดใหม่ได้เองตลอดทั้งปี แต่เมนูพื้นเมืองดั้งเดิมของไอซ์แลนด์ก็ยังได้รับความนิยมทั้งสำหรับชาวไอซ์แลนด์เองและนักท่องเที่ยว

ภูเขาเวสตราฮอร์นทางตะวันออกของไอซ์แลนด์

ไอซ์แลนด์ในปัจจุบันมีอาหารเกือบทุกอย่างที่คุณต้องการ ร้านอาหารทั่วประเทศให้บริการอาหารเมนูนานาชาติและอาหารไอซ์แลนด์หลากหลายประเภท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเมนูที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัตถุดิบธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น



พวกเขากินอะไรกันในไอซ์แลนด์

ชาวไอซ์แลนด์กินอาหารอะไร? เมนูธรรมดาสามัญในไอซ์แลนด์ประกอบด้วยปลา เนื้อแกะ หรือสกีร์ (Skyr) ซึ่งเป็นโยเกิร์ตในแบบไอซ์แลนด์ วัตถุดิบเหล่านี้เป็นองค์ประกอบหลักในมื้ออาหารของชาวไอซ์แลนด์มากว่าพันปีแล้ว 

ในมื้ออาหารของไอซ์แลนด์นั้นมักจะมีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบหลักเนื่องจากในอดีตไม่มีพื้นที่เพาะปลูก แต่ปัจจุบันโรงเรือนเพาะปลูกที่ใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพทำให้ไอซ์แลนด์มีผักมากขึ้น เชฟสมัยใหม่จึงสามารถรังสรรค์เมนูได้หลากหลายมากขึ้นโดยนำวัตถุดิบดั้งเดิมมาผสมผสานเข้ากับวัตถุดิบสมัยใหม่

อ่านบทความนี้ต่อเพื่อดูว่าอาหารดั้งเดิมที่รับประทานกันในไอซ์แลนด์เป็นอย่างไร

อาหารพื้นเมืองดั้งเดิมของชาวไอซ์แลนด์

ปลาและอาหารทะเลในไอซ์แลนด์

เชฟในไอซ์แลนด์กำลังเตรียมปรุงเมนูปลาภาพจาก ทัวร์เที่ยววงกลมทองคำและชิมอาหารไอซ์แลนด์

เนื่องจากไอซ์แลนด์เป็นเกาะจึงไม่มีอะไรสำคัญกับการอยู่รอดของประชากรมากไปกว่าเมนูจากปลา และปลาก็เป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมการกินในไอซ์แลนด์ เป็นมรดกตกทอด และเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับการทำอาหารไอซ์แลนด์แบบดั้งเดิม

การทำประมงไม่เพียงแต่ทำให้มีอาหารขึ้นโต๊ะ แต่การส่งออกปลายังช่วยให้ไอซ์แลนด์เปลี่ยนจากที่เคยเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในยุโรปเมื่อต้นศตวรรษที่ 19 กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในทุกวันนี้



เมื่อระบบทำความเย็นพัฒนาขึ้น ปลาสดก็ยิ่งกลายเป็นอาหารหลักที่สำคัญของประเทศ โดยในช่วงปี 1950 ถึง 1960 ชาวไอซ์แลนด์ก็ยังคงบริโภคปลาเป็นประจำทุกวัน โดยบางคนเลือกกินปลาเป็นมื้อเช้าด้วยซ้ำไป แต่ปัจจุบันชาวไอซ์แลนด์รับประทานปลาเฉลี่ยสัปดาห์ละสองครั้งและกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรกินน้ำมันปลา (Lysi) อย่างน้อยสัปดาห์ละ 4 ครั้ง

ภาพของปลาถูกนำมาใช้ประดับบนเหรียญของไอซ์แลนด์ด้วย และประเทศนี้ยังต่อสู้ทำสงครามเพื่อสิทธิในการตกปลามาแล้ว ปลาเป็นอาหารพื้นเมืองของชาวไอซ์แลนด์มาตั้งแต่สมัยที่เริ่มสร้างชาติจนถึงทุกวันนี้ และมีแนวโน้มว่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคตด้วย

เมนูปลาแสนอร่อยภาพจาก Von Mathus



ร้านอาหารส่วนใหญ่ในไอซ์แลนด์จะมีเมนู "ปลาประจำวัน" และประเทศนี้มีร้านอาหารทะเลจำนวนมาก ส่วนใหญ่ร้านเหล่านี้จะเสิร์ฟปลาค็อด ปลาแซลมอน และปลามังค์ฟิช เชฟสมัยใหม่ในไอซ์แลนด์นั้นเชี่ยวชาญการคิดค้นเมนูใหม่ๆ ที่ผสมผสานความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลเข้ากับเครื่องเทศและสมุนไพรนานาชนิดที่พบในธรรมชาติของไอซ์แลนด์ คุณสามารถไปลองชิมเมนูปลาอร่อยๆ และอาหารไอซ์แลนด์แบบดั้งเดิมได้ในเมืองเรคยาวิก แต่นอกจากอาหารตามร้านอาหารทั่วไปแล้ว คุณควรลองชิมเมนูต่อไปนี้ด้วย

ฮาร์ดฟิสกูร์ (Hardfiskur) หรือปลาตากแห้ง

ฮาร์ดฟิสกูร์ หรือปลาตากแห้งมีจำหน่ายที่ร้านขายของชำทุกแห่งและที่ตลาดนัดโคลาพอร์ทิด (Kolaportid) ปลาพวกนี้แกะห่อก็สามารถหยิบกินได้เลยจึงนิยมรับประทานเป็นของว่าง หรืออาจจะนำไปทาเนยก่อนก็ได้ แม้ว่าทุกวันนี้คนจะไม่ได้กินปลาตากแห้งมากเหมือนอย่างสมัยก่อน แต่เมนูนี้ก็ยังคงเป็นอาหารหลักและเป็นที่นิยมในไอซ์แลนด์อยู่

ก่อนที่จะเช้าสู่ศตวรรษที่ 19 ธัญพืชเป็นของหายากในไอซ์แลนด์ และต้องนำเข้ามาจากเดนมาร์ก ทำให้มีราคาแพงเกินไปสำหรับชาวไอซ์แลนด์ส่วนใหญ่ ดังนั้นไม่ว่าพวกเขาจะมีธัญพืชหรือแป้งชนิดใดก็ตามที่พอจะหาได้ ชาวไอซ์แลนด์ก็จะนำไปต้มเป็นโจ๊กทั้งสิ้นเพื่อให้เก็บรักษาได้นานขึ้น และขนมปังในสมัยนั้นถือเป็นของฟุ่มเฟือย

ความขาดแคลนนี้ส่งผลให้ชาวไอซ์แลนด์ต้องกินปลาตากแห้งแทนที่จะกินขนมปังพร้อมกับมื้ออาหารเช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน 

ปลาเทราต์ที่จับได้ในช่วงหน้าร้อนภาพโดย Þormóður Símonarson 

อาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนเมนูนี้ทำมาจากปลาสด โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้ปลาแฮดด็อก ปลาแอตแลนติกวูล์ฟฟิช หรือปลาค็อดที่จับโดยใช้วิธีตกเบ็ดแบบใช้เหยื่อสดหรือเหยื่อปลอม หลังจากทำความสะอาดและเลาะกระดูกออกแล้วจึงนำปลาไปแขวนตากให้แห้ง กรรมวิธีแบบดั้งเดิมนั้นนิยมนำไปตากแดดริมทะเลเพื่อให้ปลาโดนลมทะเลที่มีไอเกลืออยู่โกรก วิธีนี้ใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถช่วยย่นระยะเวลาให้เหลือเพียง 36-48 ชั่วโมงเท่านั้น

พลอกฟิสกูร์ (Plokkfiskur) หรือสตูว์ปลา 

พลอกฟิสกูร์เป็นสตูว์ปลาแบบไอซ์แลนด์ซึ่งประกอบด้วยปลาเนื้อขาว มันฝรั่ง แป้ง นม และเครื่องปรุง แต่หลังๆ มานี้บางสูตรมีการใส่กุยช่าย เครื่องแกง ซอสแบร์เนส หรือชีสด้วย

ฮูมาร์ (Humar) หรือล็อบสเตอร์ไอซ์แลนด์ 

ล็อบสเตอร์หรือแลงกูสทีนในมื้อค่ำของชาวไอซ์แลนด์

ฮูมาร์หมายถึงล็อบสเตอร์ไอซ์แลนด์หรือกุ้งแลงกูสทีน ปกติแล้วมักจะจับได้ในน่านน้ำบริเวณชายฝั่งทางตอนใต้ และแลงกูสทีนเหล่านี้ขึ้นชื่อเรื่องมีเนื้อนุ่มอร่อย คุณสามารถพบเห็นเมนูแลงกูสทีนย่าง อบ ทอด หรือแม้แต่ใช้ทำหน้าพิซซ่า

ขนมปังของชาวไอซ์แลนด์

กลุ่มคนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในไอซ์แลนด์สมัยแรกๆ เป็นคนดื้อรั้น ซึ่งบางทีอาจจะเป็นสิ่งจำเป็นในการเอาชีวิตรอดในดินแดนแห่งไฟและน้ำแข็ง เป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้วที่ผู้คนพยายามดำรงชีวิตให้เหมือนในแถบสแกนดิเนเวียในสังคมอภิบาล เลี้ยงวัวและแกะ และปลูกธัญญาหารเพื่อใช้ทำขนมปังและอาหารสัตว์

ขนมปังถือเป็นของฟุ่มเฟือยในไอซ์แลนด์จนถึงศตวรรษที่ 20ภาพจาก ทัวร์ไพรเวทพาชิมอาหารไอซ์แลนด์แบบดั้งเดิม 3 ชั่วโมงในเรคยาวิกพร้อมไกด์ผู้เชี่ยวชาญ

วิธีทำเกษตรกรรมของชาวไวกิ้งได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภูมิประเทศของประเทศไอซ์แลนด์เนื่องจากทำให้เกิดการกัดเซาะเป็นวงกว้างและมีการตัดไม้ทำลายป่ามากมาย ซึ่งทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศแห้งแล้ง ดังนั้น ไอซ์แลนด์จึงเพาะปลูกพืชได้น้อยมาก โดยสามารถปลูกผักที่มีประโยชน์ได้แค่ไม่กี่ชนิด ได้แก่ มันฝรั่ง หัวผักกาด แครอท กะหล่ำดอก และกะหล่ำปลี และแทบจะไม่สามารถปลูกธัญพืชได้เลย

ไอซ์แลนด์ไม่เคยผลิตธัญพืชได้พอเพียงต่อการบริโภคภายในประเทศอีกเลย บางพื้นที่สามารถปลูกข้าวบาร์เลย์ได้ แต่มักจะได้ผลผลิตน้อยเนื่องจากสภาพอากาศของไอซ์แลนด์เอง

ขนมปังไอซ์แลนด์อบใหม่ร้อนๆภาพจาก Von Mathus

หลังจากผ่านช่วง "ยุคน้ำแข็งน้อย" ไปแล้วก็ไม่มีการปลูกธัญพืชให้เห็นในไอซ์แลนด์อีกต่อไป จนกระทั่งในศตวรรษที่ 20 จึงได้เริ่มหันมาปลูกธัญพืชกันอีกครั้ง โดยส่วนใหญ่จะปลูกข้าวบาร์เลย์ แต่ในปัจจุบันนี้คุณอาจจะพอได้เห็นเกษตรกรที่ปลูกข้าวโอ้ตบ้างประปราย และเนื่องจากธัญพืชแทบจะไม่สามารถเติบโตได้ในไอซ์แลนด์ จึงต้องนำเข้ามาบริโภคทำให้มีราคาแพงมาก

ส่วนเตาอบนั้นแทบจะไม่มีใครรู้จักเลยเนื่องจากไอซ์แลนด์ขาดแคลนฟืน ดังนั้นคนที่สามารถหาซื้อขนมปังได้จึงต้องเป็นคนที่มีฐานะร่ำรวยมาก อันที่จริงแล้วประเทศนี้ไม่มีอาชีพคนอบขนมเบเกอรี่เลยจนกว่าจะถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 19 แม้ว่าจะไม่มีธัญพืช เตาอบ และคนอบขนม แต่ชาวไอซ์แลนด์ก็ยังอุตส่าห์มีขนมปังที่มีเอกลักษณ์เฉพาะอยู่หลายอย่างที่ยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้

เลยฟาเบรยด์ (Laufabraud) หรือขนมปังใบไม้

หลายครอบครัวจะทำขนมปังเลยฟาเบรยด์ หรือขนมปังใบไม้ก่อนคริสต์มาส ขนมปังนี้เป็นขนมปังแผ่นกลมๆ แบนๆ ทำเป็นลวดลายเรขาคณิตรูปทรงใบไม้ก่อนนำไปทอดในกระทะ ชาวไอซ์แลนด์จะเสิร์ฟขนมปังเลยฟาเบรยด์กับเนยในมื้อค่ำวันคริสต์มาส และเนื่องจากขนมปังนี้นิยมกินในช่วงเทศกาลจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่าขนมปังคริสต์มาส



ขนมปังแฟลตแบบดั้งเดิมของไอซ์แลนด์ (Flatkaka)ภาพจาก Wikimedia, Creative Commons โดย Jonathunder ไม่มีการแก้ไข

แฟลตกากา (Flatkaka) หรือขนมปังแฟลตเบรดข้าวไรย์

ขนมปังแบบดั้งเดิมอีกชนิดหนึ่งคือแฟลตกากา (Flatkaka) เป็นขนมปังแผ่นกลมแบนทำจากข้าวไรย์ ขนมปังนี้มีรูปแบบที่แตกต่างออกไป ขนบประเพณีในการอบขนมปังแฟลตกากานั้นย้อนกลับไปถึงยุคที่มีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน (ราวปี ค.ศ. 1000) ในสมัยนั้นจะอบด้วยการวางบนหินร้อนหรือวางบนถ่านไฟที่คุกรุ่นโดยตรง

วิธีนี้ช่วยให้ขนมปังมีลวดลายเฉพาะตัว แต่หลังๆ มานิยมใช้กระทะเหล็กใบเล็กที่หนักอึ้งแทนหิน

รุกเบรยด์ (Rugbraud) หรือขนมปังไรย์แบบไอซ์แลนด์ 

หากคุณมาเที่ยวที่ประเทศไอซ์แลนด์ คุณไม่ควรพลาดชิมขนมปังไรย์สไตล์ไอซ์แลนด์หรือรุกเบรยด์ (Rugbraud) ซึ่งเป็นขนมปังหวานสีเข้มที่มีความหนาสม่ำเสมอและไม่มีขอบ สมัยก่อนจะอบในหม้อที่วางไว้บนถ่านไฟที่กำลังมอดและใช้หญ้าเทิร์ฟคลุมทิ้งไว้ค้างคืน

วิธีทำรุกเบรยด์อีกแบบหนึ่งคือการฝังหม้อไว้ใกล้กับแหล่งน้ำพุร้อนและปล่อยให้พลังงานความร้อนใต้พิภพอบขนมปังดังที่เห็นในวิดีโอข้างล่าง เมื่อทำขนมปังด้วยวิธีนี้จะเรียกขนมปังที่ได้ว่าฮแวราเบรยด์ (Hverabraud) หรือขนมปังน้ำพุร้อนแทน

ขนมปังรุกเบรยด์นี้เหมาะกับทานคู่กับปลา (และเป็นเครื่องเคียงของสตูว์ปลาพลอกฟิสกูร์) แต่คุณจะกินเปล่าๆ ก็ได้เช่นกัน ทั้งรุกเบรยด์และแฟลตกากานั้นนิยมนำเนื้อแกะ เนย ชีส ปลาเฮอริ่งดอง หรือเนื้อแกะรมควันมาโปะหน้าก่อนรับประทาน

ขนมปังหวานของชาวไอซ์แลนด์

ชาวไอซ์แลนด์มีโดนัทหลายแบบภาพจาก ทัวร์เที่ยววงกลมทองคำและชิมอาหารไอซ์แลนด์

ในศตวรรษที่ 19 น้ำตาลเริ่มเข้ามาในไอซ์แลนด์และคนไอซ์แลนด์ก็มองว่าเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ยุคนั้นเตาอบได้เริ่มกลายเป็นของใช้ที่มีกันทั่วไปแล้วและก็เริ่มมีคนอบขนมปังขายบ้างแล้วด้วย

เมื่อมาเที่ยวไอซ์แลนด์ ขนมปังแฟลตกากาและรุกเบรยด์เป็นสิ่งที่ควรต้องลองชิม และคุณก็อาจจะอยากลองเดินเข้าร้านเบเกอรี่หรือคาเฟ่เพื่อไปลองชิมขนมปังหวานด้วย

สนูดูร์ (Snudur) หรือขนมปังหวาน

สนูดูร์ (Snudur) เป็นขนมปังไส้ชินนามอนเคลือบด้วยช็อกโกแลต คาราเมล หรือน้ำตาล

พอนนูโกกูร์ (Ponnukokur) หรือแพนเค้กไอซ์แลนด์ 

พอนนูโกกูร์หรือที่เรียกกันว่าแพนเค้กไอซ์แลนด์นั้นมีลักษณะบางเหมือนเครป มักจะห่อและม้วนด้วยน้ำตาลจำนวนมากเวลาเสิร์ฟ หรือไม่ก็พับสอดไส้แยมและวิปครีม

วินาร์เบรยด์ (Vinarbraud)  หรือเวียนวสเซอรี พาสทรีสไตล์ไอซ์แลนด์

วินาร์เบรยด์ (Vinarbraud) เป็นเวียนวสเซอรีหรือพาสทรีในแบบของชาวไอซ์แลนด์ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากขนมอบประเภทพาสทรีของเดนมาร์ก แต่ขนมพาสทรีของไอซ์แลนด์จะเหมือนขนมเดนมาร์กที่ยาวหน่อยและมีไส้หลายชั้นทั้งน้ำตาล แยม อัลมอนด์ และคัสตาร์ด

เมนูแกะของชาวไอซ์แลนด์

เนื้อแกะไอซ์แลนด์นั้นมีรสชาติอร่อยล้ำภาพจาก วอล์กกิ้งทัวร์สำหรับสายกิน 3 ชั่วโมงแบบมีไกด์ 

นอกจากปลาแล้ว เนื้อแกะก็เป็นอาหารหลักของชาติมาตั้งแต่สมัยที่พวกไวกิ้งมาถึง ขนของแกะช่วยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายคน ส่วนเนื้อนั้นก็ช่วยให้ชาวไอซ์แลนด์มีชีวิตผ่านพ้นสภาพอากาศที่โหดร้ายมาได้

ผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานสมัยก่อนได้นำแกะเข้ามาในไอซ์แลนด์ด้วย ซึ่งพวกมันก็ถูกเลี้ยงดูและสืบทอดเผ่าพันธุ์แยกจากแกะพันธุ์อื่นๆ ดังนั้นแกะของไอซ์แลนด์บางครั้งก็เรียกได้ว่าเป็นสายพันธุ์เดิมในสมัยรุ่นที่อพยพเข้ามา

แม้ว่าขนของแกะเหล่านี้ถูกนำมาทำเป็นเสื้อสเวตเตอร์ขนสัตว์ "โลปาเปย์ซา" (Lopapeysa) ด้วย แต่หลักๆ แล้วการเลี้ยงแกะไอซ์แลนด์คือเลี้ยงไว้เอาเนื้อมาเป็นอาหาร โดยในทุกฤดูใบไม้ผลิ พวกแกะจะถูกปล่อยออกไปจากคอกเพื่อให้พวกมันไปใช้ชีวิตอย่างอิสระตามชนบท ได้เล็มหญ้าและอยู่กลางป่าที่ไม่มียาฆ่าแมลงตลอดทั้งหน้าร้อน

เนื่องจากสภาพอากาศของไอซ์แลนด์ไม่สามารถเพาะปลูกธัญพืชได้ แกะจึงต้องอาศัยกินหญ้า รากไม้ เบอร์รี่ และสาหร่ายแทน เนื้อของพวกมันจึงต้องมีการปรุงรสเพิ่ม แต่เนื้อจะนุ่มและมีกลิ่นเล็กน้อย ในไอซ์แลนด์คุณสามารถพบเห็นเมนูแกะไอซ์แลนด์ถูกนำมาปรุงหลายแบบ ทั้งรมควัน ย่าง ปิ้ง สโลว์คุกทำให้สุกอย่างช้าๆ หรือไม่ก็นำไปทำเป็นเคบับหรือผัด

และก็เช่นเดียวกันกับเมนูอาหารทะเลคือไม่ว่าคุณจะเลือกปรุงแบบไหนก็อร่อย

ฮังกิคจอต (Hangikjot) หรือเนื้อแกะรมควัน

เนื้อแกะรมควันไอซ์แลนด์แบบดั้งเดิม - ฮังกิคจอตภาพโดย Martin Christensen, Wikimedia Creative Commons ไม่มีการแก้ไข

แม้ว่าคุณจะหาเนื้อสดได้ตามร้านขายของชำและในเมนูตามร้านอาหาร แต่เมนูยอดนิยมของชาวไอซ์แลนด์ที่ห้ามพลาดชิมคือเนื้อแกะไอซ์แลนด์รมควัน หรือฮังกิคจอต (Hangikjot) ก่อนที่จะมีตู้เย็นใช้ การรมควันเป็นวิธีการถนอมอาหารที่นิยมใช้กันเป็นหลัก ซึ่งวิธีนี้ไม่เพียงทำให้เนื้อสัตว์สามารถเก็บได้นาน แต่ยังทำให้มีรสชาติที่อร่อยขึ้นด้วย

ฮังกิคจอต หรือเนื้อที่ถูกแขวน ถูกตั้งชื่อตามธรรมเนียมเก่าแก่ในการรมควันเนื้อด้วยการแขวนลอยไว้บนขื่อของโรงรมควัน ในไอซ์แลนด์จะมีวิธีรมควันอยู่สองแบบคือ "birkireykt" และ "tadreykt"

บิร์กิเรย์ค (Birkireykt) คือการรมควันด้วยไม้เบิร์ช ส่วนทาดเรย์ค (Tadreykt) เป็นการใช้มูลแกะผสมกับฟาง และวิธีนี้ไม่ได้ใช้กับการรมควันเนื้อแกะเพียงอย่างเดียว เพราะทาดเรย์คถูกนำไปใช้กับทั้งแซลมอน ไส้กรอก และแม้กระทั่งเบียร์ด้วย

ปกติแล้วฮังกิคจอตจะต้องนำไปต้มและเสิร์ฟร้อนหรือเย็นโดยนำมาแล่เป็นแผ่นๆ เมนูนี้เป็นอาหารดั้งเดิมที่เสิร์ฟในช่วงคริสต์มาสและมักจะเสิร์ฟพร้อมกับมันฝรั่งในซอสเบชาเมล ถั่วลันเตา กะหล่ำปลีแดง และ "เลาฟาบร้าด์"

และเมื่อไม่นานมานี้มีการศึกษาวิจัยที่แสดงว่าชาวไอซ์แลนด์ประมาณ 90% กินเมนูนี้อย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงวันหยุดคริสต์มาส

สำหรับตัวเลือกเมนูอาหารกลางวันที่คนไอซ์แลนด์ชอบรับประทานกันมากคือแซนด์วิชฮังกิคจอต เนื้อแกะรมควันจะถูกแล่บางๆ และนำไปสอดไส้เป็นแซนด์วิช ซึ่งบางครั้งก็ใช้ขนมปังแฟลตกากาแบบดั้งเดิม

เคียวท์ซุปา (Kjotsupa) หรือซุปเนื้อแกะ 

เคียวท์ซุปา (Kjotsupa) ทำจากเนื้อแกะส่วนที่เหนียว ผักที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และสมุนไพรไอซ์แลนด์หลายชนิด ซุปชนิดเหมาะสำหรับอากาศในช่วงหน้าหนาวและเหมาะเป็นตัวเลือกมื้อกลางวันแบบเร่งด่วนตามคาเฟ่และร้านอาหารด้วย

พิลซา (Pylsa) หรือฮอตด็อก 

Lamb goes into Icelandic hot dogs.ภาพจาก ทัวร์ชิมอาหารพื้นเมืองไอซ์แลนด์กรุ๊ปเล็ก 3 ชั่วโมงในเรคยาวิก 

พิลซาที่สะกดว่า "Pylsa" หรือ "Pulsa" เป็นอาหารยอดนิยมที่ควรต้องลองกินในไอซ์แลนด์ เมนูนี้ทำมาจากเนื้อแกะ เนื้อวัว และเนื้อหมูผสมกัน ลองสั่งแบบเอาทุกอย่าง (Ein med ollu) แล้วคุณจะได้ฮอตด็อกที่มีหอมใหญ่ทอดกรุบกรอบ หัวหอมดิบและราดด้วยซอสมะเขือเทศ มัสตาร์ดหวาน และซอสครีมรีมูเลด

สกีร์ของชาวไอซ์แลนด์ (Skyr)

Icelandic Skyr เป็นอาหารประจำชาติที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ

ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไอซ์แลนด์คุณจะเห็นเหยือก 3 ใบที่ด้านในมีวัตถุคล้ายหินสีเทาอยู่ สิ่งนี้ก็คือสกีร์ (Skyr) ที่เหลือมาจากมื้ออาหารเมื่อกว่าหนึ่งพันปีก่อน สกีร์เป็นผลิตภัณฑ์จากนมแบบดั้งเดิม ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับโยเกิร์ตแต่ตามหลักแล้วถูกจัดประเภทให้เป็นชีสชนิดหนึ่ง เมื่อชาวไวกิ้งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไอซ์แลนด์ พวกเขาได้นำวัฒนธรรมการทำอาหารจากบ้านเกิดเข้ามาในไอซ์แลนด์ด้วย

อาหารนอร์สเหล่านี้มีวิวัฒนาการแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยแต่ละชนชาติก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันไป แต่ดูเหมือนว่าสกีร์จะหายไปจากประเทศในแถบสแกนดิเนเวียทั้งหมด ในขณะที่เป็นเมนูที่เฟื่องฟูมากในไอซ์แลนด์ ทุกวันนี้คุณสามารถหาซื้อสกีร์ได้บนเชล์ฟตามร้านขายของชำทั่วโลก

ผลิตภัณฑ์นมชนิดนี้ทำมาจากการแยกหางนมออกมาจากครีม แล้วนำนมไปพาสเจอร์ไรซ์และเติมหัวเชื้อที่มีชีวิตที่ได้มาจากสกีร์ล็อตก่อนๆ เข้าไป เมื่อผลิตภัณฑ์ที่ได้มีความข้นขึ้นก็จะถูกนำมากรองและแต่กลิ่นรส เช่น วนิลาหรือเบอร์รี่ และหลังๆ นี้เริ่มมีรสใหม่เข้ามาอย่างมะม่วง มะพร้าว หรือกระทั่งรสชะเอมเทศก็มี

สกีร์เป็นอาหารมื้อเช้าแบบดั้งเดิมของชาวไอซ์แลนด์ แต่ก็สามารถรับประทานในมื้ออื่นได้ด้วย และในยุคปัจจุบันสกีร์ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลด้วย โดยกลุ่มผู้ประท้วงมักจะปาสกีร์เข้าไปในตึกรัฐสภา

เนื้อสัตว์ที่ไม่ค่อยน่าอภิรมย์ของชาวไอซ์แลนด์ 

นกพัฟฟินในไอซ์แลนด์

นอกจากเนื้อแกะแล้วคุณยังสามารถพบเห็นเนื้อสัตว์แบบดั้งเดิมในร้านขายของชำและร้านอาหารด้วย ได้แก่ เนื้อหมู เนื้อวัว และเนื้อไก่ และอย่าตกใจเมื่อคุณเหลือบไปเห็นเมนูเนื้อลูกม้าหรือแม้แต่เนื้อเรนเดียร์ในร้านอาหาร

ในขณะที่เดินทางรอบประเทศไอซ์แลนด์คุณอาจจะได้ไปเจอกับเมนูพิสดารอีกหลายอย่างที่คุณจะต้องเลิกคิ้วด้วยความสงสัย สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่อาหารหลักของชาวไอซ์แลนด์ แต่เพราะว่าความแปลกจึงทำให้ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยว

เนื้อนกพัฟฟิน 

นกพัฟฟินอยู่ในเมนูของร้านอาหารไอซ์แลนด์หลายแห่ง และเป็นที่ถกเถียงกันอยู่

นกพัฟฟินเป็นนกที่โดดเด่นที่สุดในไอซ์แลนด์และเป็นนกที่ชาวไอซ์แลนด์และนักท่องเที่ยวชอบไปดูท่ามกลางธรรมชาติด้วย ดังนั้นหลายท่านอาจจะพบว่ามันแปลกมากที่มีนกชนิดนี้อยู่บนเมนูของร้านอาหาร ในอดีตชุมชนชายฝั่งอย่างไอซ์แลนด์นั้นต้องใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทั้งหมดที่หาได้ และการเอาชีวิตรอดรวมถึงการกินนกน้อยน่ารักเหล่านี้เป็นอาหารด้วย

ในขณะที่นกพัฟฟินแอตแลนติกได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในประเทศอื่นๆ แล้ว แต่ที่ไอซ์แลนด์และหมู่เกาะแฟโรยังอนุญาตให้ล่านกพัฟฟินได้อยู่ ดังนั้น พัฟฟินจึงเป็นส่วนประกอบหนึ่งของอาหารในสองชาตินี้มานานหลายร้อนปีและยังถือว่าเป็นอาหารอันโอชะในยุคปัจจุบัน

ในไอซ์แลนด์มีประชากรนกพัฟฟินมาอาศัยอยู่ในช่วงหน้าร้อนราว 10 ล้านตัว โดยหมู่เกาะเวสต์แมน (Westman Islands) เป็นอาณาจักรนกพัฟฟินที่ใหญ่ที่สุด หากจากชายแผ่นดินใหญ่ไปทางใต้แค่ 10 กิโลเมตร หมู่เกาะแห่งนี้มีประชากรนกพัฟฟินราว 20% ของนกพัฟฟินทั้งหมดบนโลก ทำให้ที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นอาณาจักรนกพัฟฟินที่ใหญ่ที่สุดของโลก



อย่างไรก็ตามในปัจจุบันพบว่าจำนวนนกพัฟฟินเริ่มน้อยลงแล้ว และคิดว่าการลดจำนวนนี้ไม่เกี่ยวกับการล่ามากเกินไปด้วย แต่เป็นเพราะมีปัญหาในเรื่องการสืบพันธุ์ เนื่องจากมีจำนวนนกลดน้อยลง จึงมีการออกกฎห้ามไม่ให้ล่านกเพื่อเป็นการช่วยคุ้มครองพวกมัน และเนื่องจากมีการเฝ้าระวังนกพัฟฟินเป็นอย่างดีอยู่แล้ว คุณจึงไม่ต้องกังวลใจหากจะเห็นพวกมันอยู่บนเมนูบ้าง เพราะว่ายังอยู่ในขอบเขตที่สามารถล่ามาเป็นอาหารได้

เนื้อนกพัฟฟินนิยมนำไปย่างหรือรมควันและมีกลิ่นสาปหน่อยๆ

เนื้อปลาวาฬ

วาฬหลังค่อมไม่ถูกล่าในไอซ์แลนด์ แม้ว่าสายพันธุ์อื่นจะโดนล่าบ้าง

การล่าวาฬเริ่มขึ้นในไอซ์แลนด์ในศตวรรษที่ 12 โดยเป็นการล่าวาฬด้วยหอก และการยิงวาฬด้วยหอกยังคงเป็นวิธีการหลักในการล่าวาฬเรื่อยมา จนกระทั่งบริษัทต่างชาติเข้ามาแนะนำให้ชาวไอซ์แลนด์รู้จักการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยนำเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา

คณะกรรมาธิการล่าวาฬระหว่างประเทศ (The International Whaling Commission) ประกาศให้ยุติการล่าวาฬในเชิงพาณิชย์ซึ่งมีผลใช้บังคับทั่วโลกในปี 1986 แต่ต่างจากนอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ไม่ได้ออกมาคัดค้านการห้ามอย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้หยุดล่าวาฬในเชิงพาณิชย์ลงในปีนั้น แต่การล่าวาฬเพื่อ "การวิจัย" ยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งมาหยุดล่าในปี 1989 หลังจากที่ได้รับแรงกดดันจากต่างประเทศอย่างมาก

Guide to Iceland ต้องการให้ทะเลไอซ์แลนด์เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับวาฬ

คณะกรรมการอนุญาตให้ล่าวาฬมิงค์และวาฬฟิน เนื้อวาฬมิงค์ขายให้กับร้านอาหารและร้านขายของชำในท้องถิ่น แต่วาฬฟินจะส่งขายญี่ปุ่น ในช่วงสองสามฤดูร้อนที่ผ่านมา ไม่มีการจับวาฬฟินเลย และไม่มีแผนจะทำเช่นนั้นในปีต่อๆ ไป

เนื้อปลาวาฬนั้นไม่ใช่อาหารหลักในประเทศไอซ์แลนด์ และเนื้อปลาวาฬส่วนใหญ่ถูกขายให้กับร้านอาหารในไอซ์แลนด์ ซึ่งหลักๆ แล้วผู้บริโภคคือนักท่องเที่ยว แม้ว่าจะมีการคัดค้านการล่าวาฬในระดับสากลก็ตาม

เราแนะนำให้ไปเข้าร่วมกับทัวร์ดูวาฬ ซึ่งคุณจะได้เห็นสัตว์โลกสุดพิเศษชนิดนี้ท่ามกลางถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของพวกมัน

อาหารพื้นเมืองดั้งเดิมที่ไม่ค่อยน่าอภิรมย์ของชาวไอซ์แลนด์

อาหารไอซ์แลนด์แบบดั้งเดิมอาจดูน่ากลัวสักหน่อยภาพจาก Wikimedia, Creative Commons โดย the blanz

คุณอาจจะกำลังคิดว่าที่ไอซ์แลนด์เขากินอาหารแบบไหนกันนะ? หลังจากที่ได้อ่านเกี่ยวกับเนื้อนกพัฟฟินและเนื้อวาฬในฐานะที่เป็นอาหารของชาวไอซ์แลนด์ไปแล้ว และเราจะบอกว่าอาหารพื้นเมืองดั้งเดิมของไอซ์แลนด์นั้นก็เป็นที่ถกเถียงกันยืดยาวเช่นกัน

แม้ว่าคุณสามารถหาอาหารอร่อยๆ ได้มากมายในไอซ์แลนด์ แต่ชนชาตินี้ก็ไม่ได้ละทิ้งวิธีเก่าแก่ในการกินอาหารเลย ทุกวันนี้คุณยังสามารถพบเห็นเนื้อหมักแบบโบราณได้ตามร้านขายของชำและร้านอาหาร และยังมีการจัดเทศกาลกลางฤดูหนาวขึ้นปีละหนึ่งครั้งทั่วประเทศเพื่อเป็นการรำลึกถึงอาหารในประวัติศาสตร์ด้วย

คนมักจะนึกถึงการหมักเนื้อแบบดั้งเดิมทันทีที่ได้ยินคำว่า "อาหารไอซ์แลนด์" และมันฟังดูน่ากลัว ฉลามหมัก ลูกอัณฑะดอง และหัวแกะต้ม แม้จะฟังดูไม่เหมือนของที่คุณใส่ในจานอาหาร แต่เชื่อเถอะว่าวิธีการเตรียมอาหารเหล่านี้เกิดจากความจำเป็นล้วนๆ

อาหารสดที่ไอซ์แลนด์นั้นเป็นของหายากในฤดูหนาว ดังนั้นเพื่อให้สามารถอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายและว่างเปล่าเช่นนี้ มนุษย์จำเป็นต้องถนอมอาหาร ก่อนที่จะมีตู้เย็นนั้น วิธีการถนอมอาหารด้วยการใช้เกลือเป็นที่นิยมทั่วโลก และในการผลิตเกลือจากน้ำทะเล คุณต้องทำให้น้ำระเหยออกไป

การทำให้ระเหยคือการปล่อยให้น้ำอยู่กลางแสงแดดหรือนำน้ำไปวางไว้บนกองไฟ แต่ไอซ์แลนด์มีแสงสว่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้นและไม่ค่อยมีต้นไม้ให้เผาด้วย และการขาดแคลนพืชพรรณยังทำให้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์มีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำอาหารไอซ์แลนด์ และความยากจนทำให้ไม่มีส่วนใดของสัตว์ต้องเหลือทิ้ง

ส่วนของเนื้อและเครื่องในจะถูกถนอมเก็บไว้ทานตลอดฤดูหนาวโดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น การดองในหางนมหมักหรือน้ำเกลือเข้มข้น การตากแห้ง และการรมควัน ซึ่งส่งผลให้อาหารพื้นเมืองของแต่ละประเทศมีรสชาติที่แตกต่างกันไป

ฤดูหนาวในไอซ์แลนด์เป็นช่วงเวลาที่ต้องกินเนื้อที่ผ่านการหมักบ่มแบบดั้งเดิม

โชคดีที่เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแทนที่กรรมวิธีเก็บรักษาอาหารแบบเดิมๆ แต่ในช่วงเทศกาลต่างๆ นั้น ชาวไอซ์แลนด์ก็ยังคงพัวพันกับการบริโภคอาหารแบบดั้งเดิมเหล่านี้อยู่ แม้ว่าบางเมนูอาจจะมองดู (หรือมีกลิ่น) น่ากลัวไปหน่อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าเมนูเหล่านี้ทั้งหมดจะมีรสชาติแย่

ในงานเลี้ยงธอร์ราบลอต (Thorrablot) คุณมักจะเจอเมนูปลาฮาร์ดฟิสกูร์หรือปลาตากแห้ง ฮังกิคจอตหรือแกะรมควัน รวมถึงสกีร์ รุกเบรยด์ และแฟลตกากาด้วย หากคุณอยากลองชิมเมนูแปลกใหม่ แนะนำว่าให้คุณลองอาหารไอซ์แลนด์เหล่านี้ดู

ธอร์ลักส์เมสซา (Thorlaksmessa) หรือปลาสเกตหมัก 

ธอร์ลักส์เมสซา (ธอร์ลักในวันมิสซา) เป็นงานเลี้ยงที่จัดขึ้นก่อนวันคริสต์มาสอีฟหนึ่งวัน ในวันนี้ปลาสเกตหมัก (ปลากระเบนชนิดหนึ่ง) จะถูกเสิร์ฟพร้อมกับมันฝรั่งและไขมันสัตว์ และชาวไอซ์แลนด์บางส่วนยืนกรานว่าถ้าไม่ได้รับประทานอาหารชนิดนี้ก็จะถือว่ายังคริสต์มาสยังไม่ได้เริ่มต้น

บางคนไม่รังเกียจกลิ่นฉุนๆ ของแอมโมเนียของเมนูนี้ แต่บางคนก็หลีกเลี่ยงและไม่ชอบเมนูนี้เอามากๆ (ซึ่งก็เข้าใจได้) แต่รสชาตินั้นไม่ได้รุนแรงเหมือนกับกลิ่น ซึ่งรสจะคล้ายๆ กับปลาค็อดเค็ม แต่แค่ได้กลิ่นอย่างเดียวก็ทำให้หลายคนกลัวแล้ว



สลาตูร์ (Slatur) พุดดิ้งตับแบบไอซ์แลนด์ 

อีกเทศกาลหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการถนอมอาหารแบบดั้งเดิมของไอซ์แลนด์คือ "ธอร์ราบลอต" ซึ่งเป็นเทศกาลกลางฤดูหนาวที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกประเพณีเก่าแก่ของบรรพบุรุษและจัดขึ้นในเดือน "ธอร์รี" (Thorri) ตามเดือนจันทรคติของนอร์สโบราณ

ชาวไอซ์แลนด์จะมารวมตัวกัน กล่าวคำสุนทรพจน์ ท่องบทกวี ร้องเพลง เต้นรำ และรับประทานอาหารไอซ์แลนด์แบบดั้งเดิมตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคมไปจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ อาหารที่รับประทาน ได้แก่ หัวแกะต้ม ปลาฉลามหมัก ลูกอัณฑะแกะ และ "สลาตูร์ หรือพุดดิ้งตับของชาวไอซ์แลนด์

พุดดิ้งดำแบบไอซ์แลนด์และพุดดิ้งตับ Blóðmör และ lifrarpylsa

ภาพโดย Navaro, Wikimedia Creative Commons ไม่มีการแก้ไข

สำหรับครอบครัวชาวไอซ์แลนด์ยุคใหม่นั้น สมาชิกจะมารวมตัวกันเพื่อทำ "สลาตูร์" ก่อนวันธอร์ราบลอต ซึ่งเมนูนี้ทำมาจากเลือดแกะหรือตับและไต ไขมันบด ข้าวโอ๊ต ข้าวไรย์ และเครื่องเทศ

สลาตูร์มีสองแบบคือบลัดมอร์ (Blodmor) ซึ่งเป็นพุดดิ้งสีดำชนิดหนึ่งที่ชาวไอซ์แลนด์รับประทานมาตั้งแต่ยุคที่เพิ่งมีการเข้ามาตั้งถิ่นฐาน และลีฟราร์พิลซา (lifrarpylsa) ที่เป็นไส้กรอกตับที่มีลักษณะคล้ายกับแฮกกิส (ไส้กรอกเครื่องในแกะ)

สลาตูร์มักจะเสิร์ฟพร้อมมันฝรั่งต้มและหัวไชเท้าบด และสลาตูร์ที่กินเหลือก็ยังสามารถนำไปทำพุดดิ้งข้าวราดชินนามอนได้ มีร้านอาหารและคาเฟ่ในเรคยาวิกจำนวนไม่กี่แห่งที่ในเรคยาวิกเท่านั้นที่ยังคงให้บริการพื้นเมืองแบบไอซ์แลนด์

หากคุณสามารถทำได้ คุณควรมาเที่ยวในช่วงที่มีเทศกาลธอร์ราบลอตแล้วคุณจะได้เห็นร้านที่ขายเมนูแปลกๆ เหล่านี้

ฮาคาร์ล (Hakarl) หรือฉลามหมัก

ฉลามหมักเป็นอาหารประจำชาติแสนอร่อยแต่ก็น่าสะอิดสะเอียนภาพจาก Wikimedia, Creative Commons โดย Chris73 ไม่มีการแก้ไข

ฮาคาร์ล (Hakarl) คือปลาฉลามหมักที่มักจะทำจากปลาฉลามกรีนแลนด์ ปลาเหล่านี้มีพิษหากกินสดเพราะมีสารแอมโมเนียในปริมาณที่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัยหลังจากที่นำไปฝังไว้ในหลุมเพื่อหมักเป็นเวลา 6 สัปดาห์ (และบางทีก็นานถึง 12 สัปดาห์)

จากนั้นนำไปแขวนตากทิ้งไว้อีก 4-5 เดือนแล้วจึงนำมาหั่นเสิร์ฟเป็นก้อนสี่เหลี่ยม ตามธรรมเนียมแล้วเวลากินฉลามหมักจะต้องดื่มเหล้าเบรนนิวิน (Brennivin) ซึ่งเป็นเครื่องดื่มประจำชาติของไอซ์แลนด์ตามด้วย เพื่อช่วยขจัดกลิ่นรสที่รุนแรง

สวิด (Svid) หรือหัวแกะต้ม 

สวิด (Svid) คือหัวแกะต้ม ซึ่งปกติจะผ่าครึ่งและเอาสมองออกและเส้นขนออกก่อน รสชาติของเมนูนี้ไม่ได้แย่อย่างที่คิดและเมนูนี้สามารถพบได้ทั่วไปในบุฟเฟต์ที่เสิร์ฟในช่วงเทศกาลกลางฤดูหนาว

ชาวไอซ์แลนด์กินตาและลิ้นของแกะด้วย ส่วนหูนั้นไม่กินเพราะมีความเชื่อว่าการกินหูเกี่ยวข้องกับการเป็นขโมย โดยวัฒนธรรมการกินเหล่านี้เกิดขึ้นในสมัยที่อาหารขาดแคลน เพื่อไม่ให้มีส่วนใดส่วนหนึ่งของสัตว์ต้องเหลือทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ 

ฮรูทสพุนการ์ (Hrutspungar) หรือลูกอัณฑะดอง

ฮรูทสพุรนการ์ (Hrutspungar) คือลูกอัณฑะของแกะที่นำไปดองด้วยการต้มและหมักในเวย์หรือหางนม นอกจากนี้ก็ยังมีการนำไปบดเป็นปาเตก่อนเพื่อให้ง่ายต่อการรับประทานและสามารถปาดบนหน้าขนมปังไรย์ได้สะดวก  

ขนมหวานและลูกกวาดของชาวไอซ์แลนด์

ขนมหวานของไอซ์แลนด์ส่วนใหญ่เป็นชะเอมเทศเคลือบช็อกโกแลตภาพโดย Omnom

คนในไอซ์แลนด์กินอะไรเป็นของหวาน? คุณรู้หรือไม่ว่าที่ไอซ์แลนด์นั้นไม่มีน้ำตาลขายจนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 19? และตั้งแต่ปี 1880 ถึงปี 1950  ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่เพิ่งมีการนำเข้าน้ำตาลมาในไอซ์แลนด์ได้ไม่นานนัก การบริโภคน้ำตาลในไอซ์แลนด์เพิ่มสูงขึ้นกว่า 710% ดูเหมือนว่าชาวไอซ์แลนด์จะตกหลุมรักในรสชาติของน้ำตาลตั้งแต่แรกที่ได้ลิ้มรสทีเดียว

ไอศกรีมของชาวไอซ์แลนด์

ชาวไอซ์แลนด์กินไอศกรีมได้ทุกเมื่อไม่ว่าจะเป็นช่วงหน้าหนาวที่มีลมหนาวพัดแรงหรือมีหิมะตกโปรยปราย คุณจะเห็นว่ามีร้านขายไอศกรีมอยู่เกือบทุกเมืองในไอซ์แลนด์ ซึ่งหลายแห่งนั้นตั้งอยู่ใกล้กับสระน้ำร้อนพลังงานความร้อนใต้พิภพ เพราะไอศกรีมเป็นของที่นิยมรับประทานหลังจากว่ายน้ำเสร็จ

ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเป็นชนิดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่อย่าเพิ่งเลือกกินไอศกรีมเปล่าๆ แนะนำให้จุ่มลงเคลือบช็อกโกแลตด้วยและโรยด้วยลูกกวาดเม็ดเล็กๆ อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า "is med dyfu og kurli"

หากคุณต้องการให้พิเศษยิ่งขึ้นไปอีก ให้คุณสั่ง "bragdarefur" ร้านจะเอาซอฟต์ไอศกรีมที่โดยมากใช้รสวนิลาไปใส่ในภาชนะขนาดใหญ่ และบางร้านมีภาชนะให้เลือกหลายแบบ จากนั้นคุณจะเลือกลูกกวาดหรือผลไม้อีก 3 อย่างที่เคาน์เตอร์ แล้วพนักงานจะนำทุกอย่างลงเครื่องผสมและโรยลูกกวาดแต่งหน้าให้อีกทีหนึ่ง เสร็จแล้วคุณก็จะได้เพลิดเพลินไอศกรีมสไตล์ไอซ์แลนด์ที่อร่อยล้ำ

ลักกริส (Lakkris) หรือชะเอมไอซ์แลนด์ 

ชะเอมดำภาพโดย John JP จาก Wikimedia Creative Commons ไม่มีการแก้ไข

หากเดินชมโซนที่ขายลูกกวาดตามซุปเปอร์มาร์เก็ต คุณจะสังเกตเห็นว่าขนมหวานของไอซ์แลนด์จำนวนมากประกอบด้วยชะเอมรสเค็มหรือลักกริส (Lakkris) ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือชะเอมเคลือบช็อกโกแลต และก็ยังมีส่วนผสมที่แปลกๆ อย่างอื่นด้วย เช่น ลูกเกดผงชะเอม อินทผลัม และอัลมอนด์

แน่นอนว่าต้องมีไอศกรีมชะเอม ซึ่งคุณจุ่มลงไปในดิปชะเอมรอให้แข็งตัวและเคลือบด้วยผงชะเอมอีกชั้นหนึ่ง (แต่หลายคนบอกว่ามันเยอะเกินไปหน่อย) และไม่ได้แค่ใช้เป็นส่วนผสมของขนมเพียงอย่างเดียว แต่ของหวานสีดำรสเค็มๆ นี้ยังนิยมใส่ในอาหารด้วย ที่ไอซ์แลนด์มีเกลือชะเอม ซอสชะเอมสำหรับกินกับเนื้อแกะ หรือแม้แต่ชีสชะเอมก็ยังมี

ความหลงใหลในชะเอมเทศนี้มีมานานหลายศตวรรษแล้วตั้งแต่ที่ชาวสแกนดิเนเวียได้แนะนำให้ชาวไอซ์แลนด์ได้รู้จักกับชะเอม ชาวไอซ์แลนด์ไม่มีน้ำผึ้งและน้ำตาล ดังนั้นรากไม้ชนิดนี้จึงถูกนำมาใช้เพื่อให้รสหวาน และว่ากันว่ารากไม้นี้ยังช่วยแก้หวัดได้ด้วย ทำให้เภสัชกรชาวไอซ์แลนด์ใส่ชะเอมลงไปในสูตรยาแก้ไอและยาอมเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยด้วย

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 สงครามและการจำกัดปริมาณการนำเข้าสินค้าส่งผลให้ประเทศไอซ์แลนด์เกิดขาดแคลนขนมที่มาจากต่างประเทศ คนไอซ์แลนด์จึงหันมาผลิตขนมหวานของตัวเอง และมักจะใช้ชะเอมเทศเป็นส่วนผสม

คุณสามารถหากินขนมต่างประเทศในไอซ์แลนด์ได้ แต่ชาวไอซ์แลนด์เองชอบลูกกวาดที่มีรสเค็มมากกว่า ดังนั้นเมื่อคุณมาเที่ยวไอซ์แลนด์ก็ควรลองชิมลักกริสดูสักครั้ง

สิ่งที่ชาวไอซ์แลนด์ชื่นชอบ ได้แก่

  • Draumur and Thristur - ชะเอมเคลือบช็อกโกแลตชนิดแท่ง
  • Opal - ยาอมชะเอมที่มีมาตั้งแต่ปี 1945
  • Appolo Stjornurulla โรลมาร์ซิพานชะเอม
  • Lakkrisror - หลอดชะเอมที่ใช้สำหรับดื่มน้ำอัดลม
  • Gammeldags Lakrids - ชะเอมบริสุทธิ์รสเค็ม

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของชาวไอซ์แลนด์ 

ค็อกเทลเป็นที่นิยมมากขึ้นในไอซ์แลนด์ภาพจาก ทัวร์ชิมค็อกเทลแบบมีไกด์ในเรคยาวิกพร้อมด้วยเครื่องดื่มฟรี 3 รายการ & บริการจองโต๊ะที่บาร์ 3 แห่ง 

ผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในไอซ์แลนด์สมัยก่อนนั้นดื่มมี้ด (ไวน์น้ำผึ้ง) และเอลล์มานานหลายศตวรรษ ทำให้เครื่องดื่มนี้กลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในประเทศ ต่อมาเมื่อการผลิตธัญพืชในไอซ์แลนด์ต้องยุติลงในยุคกลาง เบียร์นำเข้าจึงเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น

แต่หลังจากมีการจำกัดปริมาณการนำเข้าจากเดนมาร์ก (ซึ่งปกครองไอซ์แลนด์ในขณะนั้น) ทำให้การนำเข้าเหล้ายินและวอดก้ามันฝรั่งมีราคาถูกกว่า จึงกลายมาเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในไอซ์แลนด์ และในช่วงเปลี่ยนศตวรรษ (ปี 1900) ทัศนคติต่อการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของชาวไอซ์แลนด์ก็เปลี่ยนไป และเริ่มมีการห้ามดื่มแอลกอฮอลล์ทุกชนิดในปี 1915 การแบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นี้เพิ่งมายกเลิกเมื่อปี 1921 นี่เองโดยต้องยกความดีความชอบในครั้งนี้ให้กับประเทศสเปน

ในเวลานั้นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของไอซ์แลนด์คือปลาค็อดหมักเกลือ และสเปนก็ขู่ว่าจะหยุดนำเข้าสินค้าดังกล่าว เว้นเสียแต่ว่าไอซ์แลนด์จะนำเข้าไวน์จากสเปนเป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งก็ส่งผลให้ไอซ์แลนด์ต้องยกเลิกการห้ามดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อนำเข้าไวน์แดงและโรเซ่จากสเปนและโปรตุเกส

อย่างไรก็ตาม ผู้คนในไอซ์แลนด์ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎการห้ามดื่มได้นานนัก มีคนลักลอบนำแอลกอฮอล์เข้ามาในประเทศอยู่บ้าง และยังมีการดองเหล้าเองตามบ้านเรือน เหล้าทำเองตามบ้านนี้เรียกว่าแลนดิ (Landi) ซึ่งแพทย์เองก็มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มไวน์เพื่อบำรุงระบบประสาทและดื่มคอนยักเพื่อบำรุงหัวใจ 

จนกระทั่งในปี 1935 สุราและไวน์ทุกชนิดจึงได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้อง เว้นแต่เบียร์อย่างเดียว เพราะเชื่อว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ดื่มแอลกอฮอล์แบบพร่ำเพรื่อเกินไป

และเมื่อชาวไอซ์แลนด์มีการออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศกันมากขึ้นในช่วงยุค 70 ความสนใจในการดื่มเบียร์จึงเพิ่มมากขึ้น เพราะคนนิยมไปเที่ยวผับและบาร์ระหว่างที่ไปเที่ยว ทำให้ในที่สุดแล้วในวันที่ 1 มีนาคม ปี 1989 หลังจากที่มีการผลักดันจากสาธารณชนอย่างหนัก ชาวไอซ์แลนด์ก็ได้รับอนุญาตให้กลับมาดื่มเบียร์อีกครั้ง วันนี้ก็เลยกลายเป็นวันดื่มเบียร์แห่งชาติและชาวไอซ์แลนด์ก็มีการเฉลิมฉลองวันเบียร์นี้กันทุกปีด้วยการดื่มเบียร์สักหนึ่งหรือสองกระป๋อง



เบรนนิวิน (Brennivin) 

เหล้าเบรนนิวิน เหล้าดั้งเดิมของไอซ์แลนด์ที่มีมาตั้งแต่ปี 1935ภาพโดย Alexander Grebenkov จาก Wikimedia Creative Commons ไม่มีการแก้ไข

ในปี 1935 รัฐบาลไอซ์แลนด์ผลิตเบรนนิวิน เหล้ายินอัควาวิตชแน็ปไร้สีไร้รสหวาน มีกลิ่นหอมของยี่หร่าออกมาเพื่อเฉลิมฉลองการยกเลิกการดื่มแอลกอฮอล์ โดยบนขวดจะมีรูปกะโหลกสีขาวบนฉลากพื้นดำเพื่อเตือนให้คนรับรู้ว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ที่สูงมาก ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์นี้ได้ชื่อว่าเป็นเหล้าดำแห่งความตาย (Svarti Daudi หรือ Black Death)

ต่อมาภายหลังรูปกะโหลกได้ถูกแทนที่ด้วยแผนที่ไอซ์แลนด์ แต่ฉลากสีดำก็ยังคงเป็นแบรนด์ที่ชาวไอซ์แลนด์รู้จักกันดีที่สุด เครื่องดื่มนี้ถือว่าเป็นเหล้ากลั่นของไอซ์แลนด์แท้ๆ และทุกวันนี้ผลิตโดยบริษัท Egill Skallagrimsson Brewery ซึ่งยังคงใช้สูตรเดิมสูตรเดียวกับเหล้าฉลากสีดำที่อยู่บนเครื่องหมายการค้า

มีบริษัทอื่นอีกจำนวนมากที่ผลิตเครื่องดื่มชนิดนี้ และมีการปรับปรุงสูตรให้ทันสมัยและผสมรสยี่หร่าด้วยส่วนผสมอื่นเช่นตังกุยและสาหร่ายโดส (Dulse)



บาร์เทนเดอร์ผสมค็อกเทลให้ลูกค้าในไอซ์แลนด์เบียร์จาก Borg Brewery ภาพโดย  James Brooks at Flickr

สุรากลั่นของชาวไอซ์แลนด์

โรงกลั่นเหล้าหลายแห่งในไอซ์แลนด์ผลิตสแน็ป วอดก้า หรือเหล้ายินที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติของประเทศไอซ์แลนด์ หากไปตามบาร์ค็อกเทลในเรคยาวิกและสั่งค็อกเทลจะได้เครื่องดื่มที่ผสมเหล้ากลั่นที่มาจากเบิร์ช รูบาร์บ หรือโครว์เบอร์รี่

แต่เมื่อมาเที่ยวไอซ์แลนด์ คุณควรลองสิ่งเหล่านี้ (โปรดดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ)

  • Opal flavored vodka shots - เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบช็อตจากชะเอมเทศนี้ทำมาจากยาอมชะเอมยอดนิยม คุณอาจจะลองรสโทปาสด้วยก็ได้ ซึ่งอร่อยไม่แพ้กันเลย 

  • Floki Whiskey - วิสกี้ของชาวไอซ์แลนด์ทำมาจากวัตถุดิบในท้องถิ่นของไอซ์แลนด์เท่านั้น (รวมถึงข้าวบาร์เลย์ที่ปลูกที่นี่ด้วย) และมีแบบรมควัน (ในมูลแกะ) ด้วย 

คราฟต์เบียร์ของชาวไอซ์แลนด์ 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คราฟต์เบียร์ได้แพร่หลายไปทั่วประเทศ คุณสามารถหาคราฟต์เบียร์ไอซ์แลนด์ที่มีคุณภาพดีได้ที่ร้านขายแอลกอฮอล์ ATVR และบาร์อีกหลายแห่งทั่วประเทศ และเมื่อมาเยือนไอซ์แลนด์อย่างน้อยๆ คุณก็ควรลองสักหนึ่งตัว

มีเบียร์ท้องถิ่นไอซ์แลนด์ให้เลือกมากมายและบาร์ในเรคยาวิกอีกหลายแห่งก็รอให้คุณไปสำรวจเช่นเดียวกัน เพื่อที่คุณจะได้สัมผัสทั้งรสชาติเบียร์และดื่มด่ำไปกับวัฒนธรรมพร้อมกันในคราวเดียว



อาหารไอซ์แลนด์สมัยใหม่

อาหารจานเด็ดของชาวไอซ์แลนด์

คนไอซ์แลนด์ในยุคปัจจุบันรับประทานอะไรกัน? ในยุคใหม่ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีและความรู้ใหม่ ชาวไอซ์แลนด์เรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากธรรมชาติรอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ ซึ่งสามารถให้ความร้อนกับอาคารต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เมืองฮแวราแกร์ดิ (Hveragerdi) มีโรงเรือนหลายแห่งที่นำพลังงานความร้อนใต้พิภพมาใช้ทำให้สามารถปลูกผักและผลไม้ได้ตลอดทั้งปี

การเดินทางไปต่างประเทศยังทำให้ชาวไอซ์แลนด์นำความรู้ที่หลากหลายมาประยุกต์ใช้กับวัตถุดิบในท้องถิ่นแบบดั้งเดิมและรังสรรค์ออกมาเป็นรสชาติที่น่าทึ่งในการทำอาหารไอซ์แลนด์สมัยใหม่ ในเรคยาวิกมีร้านอาหารจากหลากหลายวัฒนธรรมและอาหารท้องถิ่นของไอซ์แลนด์เองก็กำลังเติบโตเช่นกัน โดยเน้นความบริสุทธิ์ เรียบง่าย และความสดของวัตถุดิบเป็นสำคัญ

ในเรคยาวิกมีทั้งร้านอาหารประเภทไฟน์ไดนิ่ง แกสโทรผับ บราสเซอรี บิสโทร และแฟรนไชส์เบอร์เกอร์ต่างๆ ให้เห็นมากมาย รวมถึงร้านอาหารวีแกนและมังสวิรัติก็เพิ่มจำนวนขึ้นมาก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีศูนย์อาหารเปิดใหม่หลายแห่งรอบเมือง ซึ่งลูกค้าที่มารับประทานอาหารร่วมกันสามารถเลือกรับประทานอาหารได้จากผู้ประกอบการมากมาย



ถ้าคุณเดินทางออกไปเที่ยวนอกเมือง คุณก็จะเจอร้านอาหารแบบดั้งเดิมที่เน้นเมนูปลาและแกะเป็นส่วนใหญ่ แต่ผู้ที่กินยากก็ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะว่ามีร้านพิซซ่าหรือแฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ดให้เห็นตลอด

ดังนั้นผู้ที่กำลังวางแผนเดินทางมาเที่ยวไอซ์แลนด์จึงไม่ต้องกลัวว่าจะต้องกินฉลามหรืออัณฑะแกะเป็นอาหาร เพราะคุณจะมีอาหารให้เลือกรับประทานมากมายและต้องมีสิ่งที่คุณชอบกินอย่างแน่นอน

อาหารไอซ์แลนด์เมนูไหนที่คุณอยากลองชิมมากที่สุด? หรือถ้าหากคุณเคยมาเที่ยวไอซ์แลนด์แล้ว คุณคิดยังไงกับอาหารของชาวไอซ์แลนด์? อะไรที่คุณชอบกินมากที่สุด? เราอยากได้ยินเรื่องราวของคุณบ้าง คุณสามารถเล่าในช่องความคิดเห็นด้านล่างได้เลย

บทความที่ได้รับความนิยม

บทความอื่นที่น่าสนใจ

Link to appstore phone
ติดตั้งแอปท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไอซ์แลนด์

ดาวน์โหลดตลาดการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไอซ์แลนด์ลงในโทรศัพท์ของคุณเพื่อจัดการการเดินทางทั้งหมดของคุณได้ในที่เดียว

สแกนรหัส QR นี้ด้วยกล้องในโทรศัพท์ของคุณแล้วกดลิงก์ที่ปรากฏขึ้นเพื่อเพิ่มตลาดการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไอซ์แลนด์ไว้ในกระเป๋าของคุณ ป้อนหมายเลขโทรศัพท์หรือที่อยู่อีเมลของคุณเพื่อรับ SMS หรืออีเมลพร้อมลิงก์ดาวน์โหลด