คู่มือเที่ยวชายฝั่งทางตอนใต้ของไอซ์แลนด์

คู่มือเที่ยวชายฝั่งทางตอนใต้ของไอซ์แลนด์

Michael Chapman
ผู้เขียน: Michael Chapman
ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรอง
ไปที่เรื่อง

สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่ไอซ์แลนด์ตอนใต้มีอะไรบ้าง และกิจกรรมอะไรที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด

สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมบนชายฝั่งทางตอนใต้ของไอซ์แลนด์มีอะไรบ้าง มีกิจกรรมแบบไหนที่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยว ชายฝั่งทางใต้อยู่ห่างจากเมืองหลวงอย่างเรคยาวิก (Reykjavík) มากแค่ไหน ใช้เวลาในการเดินทางมากเท่าใด และสามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปีหรือไม่ อ่านบทความนี้เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับทริปเที่ยวไอซ์แลนด์ตอนใต้ที่คุณอยากรู้



ทำความรู้จักกับชายฝั่งทางตอนใต้ของไอซ์แลนด์ 

ชายฝั่งทางใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังไอซ์แลนด์ และในภูมิภาคนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ผู้คนชื่นชอบอยู่หลายแห่งด้วยกัน อาทิ ทะเลสาบธารน้ำแข็งโจกุลซาลอน (Jökulsárlón) หรือที่เรียกกันว่าเป็น “มงกุฎอัญมณีแห่งไอซ์แลนด์” และอุทยานแห่งชาติวัทนาโจกุล (Vatnajökull) ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความยิ่งใหญ่อลังการ 



คาบสมุทรดิร์โอลาเอย์เป็นส่วนปลายสุดของไอซ์แลนด์และมีวิวชายฝั่งอันงดงาม

ผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวไปบนชายฝั่งแห่งนี้จะตื่นตาตื่นใจไปกับวิวอันงดงามแบบไม่รู้จบของทุ่งลาวาที่แข็งตัว หน้าผาที่มีทิวทัศน์สวยๆ และหมู่บ้านชาวประมงสุดคลาสสิก ปัจจุบันนี้นักท่องเที่ยวยังยกให้ชายฝั่งทางใต้ของไอซ์แลนด์เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับกิจกรรมอย่างการปีนเขา ร่มร่อนหรือพาราไกลดิง การออกทัวร์ไปกับรถซุปเปอร์จี๊ป และการเที่ยวชมทัศนียภาพอีกด้วย

ทั้งนี้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกมาเที่ยวทางใต้ได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการซื้อทัวร์แบบมีไกด์นำเที่ยว หรือทัวร์แบบขับรถเที่ยวด้วยตนเอง แต่ไม่ว่าวิธีไหนก็มักจะได้ยินนักท่องเที่ยวบ่นกันอุบว่าน่าเสียดายที่ไม่สามารถเที่ยวได้ครบทั้งหมดเนื่องจากบริเวณนี้มีอะไรให้ดูมากจริงๆ 



ทะเลสาบธารน้ำแข็งโจกุลซาลอนซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองหลวงของไอซ์แลนด์ในระยะขับรถเพียง 4 ชั่วโมง 22 นาที (ในวันที่อากาศแจ่มใสและถนนโล่งไม่มีอุปสรรค) นั้นเปรียบเสมือนจุดสิ้นสุดของชายฝั่งทางตอนใต้ และนั่นก็หมายความว่าคุณจะสามารถขับรถไป-กลับได้ในระยะเวลาเพียง 9 ชั่วโมงแบบไม่จอดพัก



แต่คุณจะทำแบบนี้ได้เฉพาะในช่วงหน้าร้อนเท่านั้น ซึ่งคุณเองก็คงไม่อยากเร่งรีบขนาดนั้นเพราะจะทำให้คุณพลาดสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งบนเส้นทางนี้ ถ้าคุณจะมาเที่ยวบนชายฝั่งทางใต้ เราแนะนำว่าน่าจะมีเวลาสัก 2-3 วัน และไปพักค้างคืนแถวๆ ควอลส์เวิลลูร์ (Hvolsvöllur) หรือเฮิฟน์ (Höfn) จะดีกว่า และนี่เป็นสาเหตุที่เรารวมเฮิฟน์ไว้ในที่นี้ด้วยแม้ว่าเฮิฟน์จะอยู่ในพื้นที่ทางตะวันออกของไอซ์แลนด์เสียมากกว่า

มีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายแห่งในทางตอนใต้ของไอซ์แลนด์ที่ไม่ได้อยู่ตามแนวชายฝั่ง อย่างเช่นเส้นทางวงกลมทองคำอันโด่งดัง ซึ่งรวมอุทยานแห่งชาติธิงเวลลีย์ (Þingvellir) น้ำตกกุลล์ฟอสส์ (Gullfoss) และทุ่งน้ำพุร้อนไกเซอร์ (Geysir)



แหล่งท่องเที่ยวที่ยกมาต่อไปนี้เพียงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ ที่อยู่บนชายฝั่งทางตอนใต้ของไอซ์แลนด์เท่านั้น เริ่มจากสถานที่เที่ยวที่อยู่ปลายสุดทางทิศตะวันตกของหุบเขาเรคยาดาลูร์ (Reykjadalur) ไปจนถึงปลายสุดทางทิศตะวันออกของเฮิฟน์ (Höfn) ซึ่งนอกจากสถานที่เหล่านี้แล้ว ทางใต้ของไอซ์แลนด์ก็ยังมีสถานที่น่าสนใจอีกมากมาย

หุบเขาเรคยาดาลูร์          

แช่บ่อน้ำร้อนที่ไอซ์แลนด์ภาพจาก ขี่ม้าที่หุบเขาเรคยาดาลูร์  | ทัวร์บ่อน้ำร้อนแบบวันเดียว

แม้ว่าชื่อจะแปลว่า “หุบเขาแห่งควัน” แต่ที่จริงแล้วเรคยาดาลูร์ (Reykjadalur) น่าจะเหมาะกับชื่อ “หุบเขาแห่งไอน้ำ” เสียมากกว่า เพราะถ้าเอ่ยชื่อสถานที่เที่ยวยอดนิยมแห่งนี้ หลายคนมักจะนึกไปถึงแม่น้ำที่มีสายน้ำอุ่นสบาย ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกิจกรรมพลังงานความร้อนใต้พื้นดินที่อยู่ในบริเวณนั้น

หุบเขาแห่งนี้ยังมีความน่าประทับใจอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเนินเขาเขียวขจีที่สลับกับสายน้ำไหลรินจากลำธารและน้ำตกหลายแห่ง หรือสระน้ำร้อนและน้ำพุร้อนที่มีอยู่จำนวนมากเกินกว่าจะนับไหว

หุบเขานี้อยู่ติดกับเมืองแคว์ราแกดิร์ (Hveragerði) ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 2,500 คนและคนแถวนี้ก็ขึ้นชื่อเรื่องความเป็นมิตร (คุณสามารถสอบถามเส้นทางไปยังหุบเขากับชาวบ้านได้เสมอ) แคว์ราแกดิร์ อยู่ห่างจากเรคยาวิก เมืองหลวงของไอซ์แลนด์ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ เพียงแค่ขับรถประมาณ 40 นาทีก็ถึงแล้ว

เมื่อเดินทางไปถึงแควร์ราแกดิร์แล้วให้คุณมุ่งหน้าขับตรงเข้าไปในเมืองได้เลยจนกว่าจะไปถึงถนนโรยกรวดที่จะพาคุณเดินทางสู่หุบเขาเรคยาดาลูร์

คุณสามารถจอดรถทิ้งไว้ที่บริเวณสุดปลายถนนและเดินขึ้นเขาต่อไปอีกราว 50-70 นาที ก็จะเจอจุดแช่น้ำร้อนจุดแรก ทั้งนี้แต่ละส่วนของแม่น้ำจะมีอุณหภูมิแตกต่างกันไป ดังนั้นคุณอาจลองเดินสำรวจดูก่อนก็ได้ว่าตรงจุดไหนที่น้ำอุ่นสบายสำหรับคุณ

แม้จะมีรถประจำทางวิ่งไปที่แควร์ราแกดิร์ แต่มันก็ไม่ได้ไปถึงลานจอดรถที่เป็นจุดเริ่มเดินขึ้นเขา ดังนั้นวิธีเดินทางไปยังแควร์ราแกดิร์ที่สะดวกที่สุดคือการเช่ารถขับเองหรือไม่ก็ซื้อแพ็กเกจทัวร์



เวสท์มานนาเอยาร์ (หมู่เกาะเวสท์แมน)           

เฮมาเอย์เป็นจุดเดียวบนเกาะเวสท์แมนที่มีคนอาศัยอยู่Wikimedia. Creative Commons. เครดิต: Hansueli Krapf. 

เวสท์มานนาเอยาร์ (Vestmannaeyjar) เป็นชื่อของเมืองและหมู่เกาะที่อยู่นอกชายฝั่งทางใต้ของไอซ์แลนด์ หมู่เกาะแห่งนี้รู้จักกันทั่วไปในชื่อภาษาอังกฤษว่า Westman Islands หรือหมู่เกาะเวสท์แมน ซึ่งหมายถึงกลุ่มผู้ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในยุคแรก พระชาวไอริช หรือ “ชายจากตะวันตก”

หมู่เกาะแห่งนี้ประกอบด้วยเกาะเล็กเกาะน้อยทั้งหมด 15 เกาะ และเกาะหินโด่งและเกาะโขดหินอีกราว 30 เกาะ ซึ่งเชื่อกันว่าก่อตัวขึ้นเมื่อ 10,000-12,000 ปีก่อน ซึ่งตามลักษณะทางธรณีวิทยาแล้วถือว่ายังมีอายุไม่มากนัก

เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือเฮมาเอย์ (Heimaey) ซึ่งเป็นเพียงเกาะเดียวที่มีคนอยู่อาศัย ปัจจุบันมีประชากรราว 4,200 คน ส่วนเกาะอื่นๆ นั้นบางแห่งก็แทบไม่มีมนุษย์เข้าไปแตะต้องเลย หรือบางแห่งก็มีกระท่อมสำหรับล่าสัตว์อยู่เพียงหนึ่งแห่งเท่านั้น ซึ่งสร้างไว้สำหรับรองรับผู้ไปเยือนในช่วงหน้าร้อน

Herjólfsdalur หรือหินช้างที่เกาะเวสท์แมนWikimedia. Creative Commons. เครดิต: Trabajo Propio.

สิ่งที่ดึงดูดให้คนมาเยือนหมู่เกาะเวสท์แมนคือธรรมชาติ มีสัตว์และพืชหลากหลายชนิดจำนวนมากในบริเวณนี้ คุณจะพบกับนกทะเลทุกชนิดของไอซ์แลนด์ได้ที่นี่ ซึ่งมีทั้งนกกิลเลอร์มอต นกสกัว นกนางนวลอาร์กติก นกพัฟฟิน นกนางนวลไอซ์แลนด์ และนกคิตติเวก

สิ่งนี้เป็นผลพลอยได้จากการที่มีสภาพอากาศแบบไมโครไคลเมท ซึ่งเป็นอากาศแบบเฉพาะของพื้นที่แถวนี้ที่ทำให้นกนับล้านๆ ตัวเข้ามาอาศัยทำรังที่หน้าผาในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และพวกมันจะออกเดินทางจากไปในช่วงต้นฤดูร้อน และเนื่องจากนกมีบทบาทสำคัญกับหมู่เกาะแห่งนี้มาก นกพัฟฟินจึงกลายมากเป็นสัญลักษณ์ของเวสท์มานนาเอยาร์

สำหรับการเดินทางไปยังเวสท์มานนาเอยาร์ คุณสามารถใช้บริการเรือข้ามฟากจากท่าเรือลันเดยาเฮิฟน์ (Landeyjahöfn) ซึ่งสามารถนำรถข้ามไปด้วยได้ถ้าคุณต้องการ แต่เกาะเฮมาเอย์นั้นสามารถเดินเที่ยวได้ไม่ยากเลย ดังนั้นอาจจะไม่จำเป็นต้องเอารถข้ามไป ทริปข้ามฟากนี้ใช้เวลาเดินทางเที่ยวละประมาณ 35 นาที และเราแนะนำว่าให้ทำการจองไว้ล่วงหน้า

หรือคุณจะเลือกบินจากสนามบินบักกิ (Bakki Airport) ที่อยู่ติดกับท่าเรือแทนก็ได้ (เที่ยวบินใช้เวลาเพียง 10 นาที)



น้ำตกเซลยาแลนศ์ฟอสส์              

น้ำตกเซลยาแลนศ์ฟอสส์ (Seljalandsfoss) เป็นจุดแวะเที่ยวที่สำคัญบนเส้นทางชายฝั่งทางใต้ นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมบริเวณด้านหลังน้ำตกแห่งนี้ได้ ทำให้ถูกใจบรรดาช่างภาพที่ชอบถ่ายรูปแนวธรรมชาติเอามากๆ เพราะสามารถเก็บภาพสวยๆ จากด้านหลังม่านน้ำตกได้



วิวเมื่อมองจากในถ้ำหลังน้ำตกเซลยาแลนศ์ฟอสส์
จากความสูง 60 เมตร (197 ฟุต) เซลยาแลนศ์ฟอสส์มีต้นน้ำมาจากธารน้ำแข็งภูเขาไฟเอยาฟยาลลาโจกุลล์ (Eyjafjallajökull) ภูเขาไฟแห่งนี้โด่งดังมากเมื่อครั้งที่มันระเบิดเมื่อปี 2010 ซึ่งเป็นสาเหตุให้การจราจรทางอากาศในยุโรปต้องหยุดชะงักลงและเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในไอซ์แลนด์

นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนน้ำตกเซลยาแลนศ์ฟอสส์มักจะเดินเท้าต่อขึ้นไปทางทิศเหนือตามเส้นทางเดินซึ่งเป็นทางไปน้ำตกกลูยฟราบูอิ (Gljúfrabúi) น้ำตกขนาดเล็กที่อยู่ใกล้ๆ กันซึ่งซ่อนตัวอยู่ในหุบผาโบราณ น้ำตกแห่งนี้ก็มีทิวทัศน์สวยแปลกตาและเป็นสถานที่โปรดของช่างภาพไม่แพ้น้ำตกเซลยาแลนศ์ฟอสส์เลย 

น้ำตกเซลยาแลนศ์ฟอสส์ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์และรายการทีวีนานาชาติมากมาย อีกทั้งเป็นจุดสต็อปแห่งแรกๆ ในรายการดิอะเมซซิ่งเรซ 6 และเป็นฉากในมิวสิกวิดีโอเพลง I’ll Show You ของจัสติน บีเบอร์ด้วย

สระว่ายน้ำกลางแจ้งเซลลาย์วัลลาเลยก์            

เซลลาย์วัลลาเลยก์เป็นสระน้ำที่ได้รับการคุ้มครอง ตั้งอยู่ในทางตอนใต้ของไอซ์แลนด์เครดิต: Wikimedia, Creative Commons, ภาพจาก Johannes Martin.

ห่างจากน้ำตกเซลยาแลนศ์ฟอสส์ไปทางทิศตะวันออกเพียงแค่ 23 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวก็จะเจอกับเซลลาย์วัลลาเลยก์ (Seljavallalaug) หนึ่งในสระว่ายน้ำกลางแจ้งหลายแห่งในทางตอนใต้ ที่นี่เป็นสระว่ายน้ำที่เก่าแก่ที่สุดในไอซ์แลนด์เลยก็ว่าได้ โดยสร้างขึ้นเมื่อปี 1923 ก่อนที่ไอซ์แลนด์จะเข้าสู่ยุคโมเดิร์นเสียอีก 

ครั้งหนึ่งเซลลาย์วัลลาเลยก์เคยเป็นสระว่ายน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไอซ์แลนด์ด้วย โดยมีขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 25 เมตร แต่ได้เสียตำแหน่งแชมป์ไปเมื่อปี 1936



นอกจากขนาดและความเก่าแก่แล้ว สระว่ายน้ำเซลลาย์วัลลาเลยก์ยังเปิดให้เข้าใช้แบบไม่เสียค่าบริการและเป็นจุดแวะที่คุ้มค่าแห่งหนึ่งบนเส้นทางท่องเที่ยวบนชายฝั่งทางใต้ แต่อย่างไรก็ตามถ้านักท่องเที่ยวอยากไปเล่นน้ำที่นี่ก็ต้องรับผิดชอบดูแลตนเองเรื่องความปลอดภัยด้วย

น้ำในสระนั้นมีความอุ่นพอดีๆ เนื่องจากมีน้ำร้อนธรรมชาติไหลหยดลงมาจากไหล่เขาที่ถูกใช้เป็นกำแพงธรรมชาติด้านหนึ่งของสระว่ายน้ำ

นักท่องเที่ยวหลายท่านอาจจะตะขิดตะขวงใจเล็กน้อยเพราะน้ำในสระบางทีก็มีสีออกเขียวๆ แต่ว่านั้นเป็นเพราะมีสาหร่ายเติบโตอยู่ที่ด้านข้างและก้นสระ สระว่ายน้ำแห่งนี้ได้รับการทำความสะอาดปีละหนึ่งครั้ง และนักท่องเที่ยวที่ไปใช้บริการต้องนำขยะติดตัวกลับออกมาด้วย ที่นี่ไม่มีห้องอาบน้ำและห้องน้ำให้บริการ แต่มีบ้านหลังเล็กๆ เอาไว้ให้พอหลบมุมเปลี่ยนเสื้อผ้าได้ และนักท่องเที่ยวต้องช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน

สำหรับการเดินทางเพื่อไปยังสระให้เลี้ยวซ้ายออกจากถนนวงแหวนเข้าสู่ถนน 242 และขับต่อไปจนถึงลานจอดรถ จากนั้นให้เดินเท้าอีก 15-20 นาทีก็จะถึงสระ

ธารน้ำแข็งโซลเฮมาร์โจกุล 

วิวธารน้ำแข็งโซลเฮมาร์โจกุลระหว่างทางเดินขึ้นไป

ภาพจาก  ปีนธารน้ำแข็งโซลเฮมาร์โจกุล

ขับไปตามถนนโรยกรวดที่ด้านซ้ายของถนนวงแหวนไม่นานคุณก็จะไปถึงธารน้ำแข็งโซลเฮมาร์โจกุล (Sólheimajökull Glacier) ซึ่งที่นี่เป็นจุดนัดพบสำหรับผู้ที่จองทัวร์ปีนกลาเซียร์ที่ธารน้ำแข็งโซลเฮมาร์โจกุลเอาไว้ ธารน้ำแข็งแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของธารน้ำแข็งขนาดใหญ่กว่าที่มีชื่อว่าธารน้ำแข็งมิร์ดาลสโจกุล (Mýrdalsjökull) 

การจะปีนธารน้ำแข็งหรือปีนกลาเซียร์ได้นั้นคุณจำเป็นต้องไปกับไกด์ที่ผ่านการรับรองแล้วเท่านั้น เพราะว่าบนธารน้ำแข็งเต็มไปด้วยรอยแยกที่เป็นอันตรายและนักท่องเที่ยวก็จำเป็นจะต้องทราบว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ นักท่องเที่ยวที่ปีนธารน้ำแข็งทุกคนรวมทั้งไกด์จะต้องใช้รองเท้าตะปู หมวกกันน็อก และขวานน้ำแข็ง ซึ่งทางทัวร์จะเตรียมอุปกรณ์เหล่านี้ไว้ให้

และถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้ต้องการไปปีนธารน้ำแข็ง สถานที่นี้ก็ยังงดงามเมื่อมองจากระยะไกล จากลานจอดรถมีทางเดินไปที่ขอบกลาเซียร์ทังก์ซึ่งใช้เวลาเดินประมาณ 15 นาที ระหว่างทางเป็นภูเขาและมีทะเลสาบธารน้ำแข็งตั้งอยู่ที่บริเวณด้านหน้ากลาเซียร์ทังก์เลย



ซากเครื่องบิน DC-3 ของสหรัฐฯ ที่โซลเฮมาซานดูร์            

ซากเครื่องบิน DC-3 ของสหรัฐฯจาก: ทัวร์ 2 วันในโจกุลซาลอน |ปีนธารน้ำแข็ง ล่องเรือ ชายหาดสีดำ และ น้ำตกในชายฝั่งทางใต้

ซากเครื่องบิน DC-3 ของกองทัพสหรัฐฯ ถูกทิ้งเอาไว้ที่นี่ตั้งแต่ปี 1973 หลังจากที่เครื่องตกลงบนพื้นทะเลทรายสีดำที่โซลเฮมาซานดูร์ (Sólheimasandur) เพราะระบบเชื้อเพลิงขัดข้อง โดยตำแหน่งของซากเครื่องบินนี้อยู่ระหว่างควอลส์เวิลลูร์ (Hvolsvöllur) และหมู่บ้านชาวประมงวิก อี มิร์ดาล์ (Vík í Mýrdal) โชคดีที่ไม่มีใครเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในครั้งนี้

ซากเครื่องบินถูกทิ้งร้างไว้อย่างนั้นตั้งแต่แรก มันถูกทิ้งไว้ให้ผุพังแต่ก็ทำให้เกิดเป็นทัศนียภาพที่มีความขัดแย้งแบบลงตัว ทั้งพื้นผิวที่ถลอกปอกเปิกของตัวเครื่องที่เคยเป็นสีขาวตัดกับดินภูเขาไฟสีดำมันของโซลเฮมาซานดูร์และซากนวัตกรรมที่ตั้งตระหง่านอยู่อย่างสงบท่ามกลางธรรมชาติอันเวิ้งว้างกว้างใหญ่



ซากเครื่องบินลำนี้อยู่มาตั้งแต่ต้นยุค 70 แล้ว แต่การท่องเที่ยวในไอซ์แลนด์เพิ่งจะมาบูมเมื่อปี 2011 นี้เอง ชาวไอซ์แลนด์บางคนก็เพิ่งจะเริ่มยอมรับจริงจังว่าเจ้าซากนี้ปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปเสียแล้ว

ซากเครื่องบินแห่งนี้เมื่อก่อนเคยถูกมองว่าเป็นขยะ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เองที่นักท่องเที่ยวจากต่างชาติเริ่มหันมาให้ความสนใจกับมัน

คุณอาจต้องใช้ความพยายามเล็กน้อยในการเดินทางไปยังซากเครื่องบิน ถ้ามองจากบนถนนวงแหวนคุณจะไม่เห็นซากเครื่องบินนี้เลย และคุณก็ไม่สามารถขับรถเข้าไปถึงซากเครื่องบินได้ด้วยเพราะว่าผิดกฏหมาย นักท่องเที่ยวจะต้องจอดรถไว้ที่ริมถนนวงแหวน และเดินเท้า (บนพื้นราบ) เข้าไปอีกประมาณ 45-60 นาที อย่างไรก็ตามคุณสามารถขี่จักรยานเข้าไปได้ ซึ่งก็อาจช่วยประหยัดเวลาได้บ้างเล็กน้อย และเนื่องจากบริเวณนี้เป็นพื้นที่เปิดโล่งไม่มีอะไรกำบังคุณจากสภาพอากาศที่ไม่สามารถทำนายได้ของไอซ์แลนด์เลย ดังนั้นคุณควรแต่งกายให้อบอุ่นเข้าไว้ก่อน



น้ำตกสโกการ์ฟอสส์                  

นักท่องเที่ยวที่มาชมน้ำตกสโกการ์ฟอสส์สามารถเดินขึ้นไปชมสายน้ำตกใกล้ๆ ได้

น้ำตกสโกการ์ฟอสส์ (Skógafoss) เป็นหนึ่งในน้ำตกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไอซ์แลนด์ โดยมีความสูง 60 เมตร กว้าง 15 เมตร และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งบนชายฝั่งทางตอนใต้

นักท่องเที่ยวที่มาชมน้ำตกสามารถเดินเข้าไปชมและถ่ายภาพตรงจุดที่น้ำตกตกลงกระทบกับพื้นดินด้านล่างได้ ภาพที่ถ่ายผ่านกล้องจะยิ่งน่าประทับใจมากขึ้นเพราะมีละอองน้ำจำนวนมากฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณทำให้เกิดเป็นรุ้งกินน้ำปรากฏตัวอยู่ท่ามกลางแสงแดด



การได้ไปยืนชมน้ำตกแบบใกล้ชิดทำให้คุณได้สัมผัสกับพละกำลังของธรรมชาติแต่ก็ต้องระมัดระวังด้วย โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว เพราะว่าหินที่บริเวณใต้น้ำตกสโกกาฟอสส์จะมีน้ำแข็งเกาะและค่อนข้างลื่น

การชมน้ำตกจากด้านบนก็สามารถทำได้โดยให้คุณเดินขึ้นไปตามขั้นบันไดที่อยู่ติดกับตัวน้ำตกเลย และในฤดูหนาวบันไดจะถูกหิมะปกคลุมทำให้เดินยากหน่อยเช่นเดียวกัน

เนื่องจากน้ำตกสโกกาฟอสส์นั้นอยู่ห่างจากน้ำตกเซลยาแลนศ์ฟอสส์ไปไม่ไกล คู่มือนำเที่ยวต่างๆ จึงมักจัดน้ำตกสองแห่งนี้ไว้ด้วยกันตลอดเหมือนเป็นญาติที่ขาดกันไม่ได้ และน้ำตกสโกกาฟอสส์ก็ไปปรากฏอยู่ในสื่อมากมายเช่นเดียวกันกับน้ำตกเซลยาแลนศ์ฟอสส์ เช่น รายการสารคดีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับไวกิงและในภาพยนตร์เรื่องชีวิตพิศวงของวอลเตอร์ มิตตี้

คาบสมุทรดิร์โอลาเอย์                 

หินโค้งดิร์โอลาเอย์เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมบนคาบสมุทรแห่งนี้

เรื่องราวเกี่ยวกับดิร์โอลาเอย์ (Dyrhólaey) เริ่มตั้งแต่สมัยที่สถานที่แห่งนี้ยังเป็นเกาะภูเขาไฟที่แยกตัวออกมาจากแผ่นดินใหญ่ของไอซ์แลนด์ในบริเวณที่เรียกว่า เคปพอร์ตแลนด์ (Cape Portland) แต่ปัจจุบันนี้ดิร์โอลาเอย์ได้รวมเข้ากับส่วนอื่นๆ ของไอซ์แลนด์และกลายเป็นคาบสมุทรเล็กๆ แห่งหนึ่ง

แหลมที่ยื่นออกไปในทะเลแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องวิวชายฝั่งทางตอนใต้อันงดงาม และนกนานาชนิดก็เลือกมาทำรังอยู่บนหน้าผาหินโค้งดิร์โอลาเอย์อันสูงใหญ่ซึ่งเป็นทิวทัศน์ที่มีความโดดเด่นมากในบริเวณนี้



ประภาคารดิร์โอลาเอย์ส่องสว่างชี้ทางให้กับเรือ

สำหรับผู้ที่เดินทางไปเยือนดิร์โอลาเอย์เพื่อชมวิวคุณจะไม่ผิดหวังแน่นอน เพราะหากมองไปทางทิศเหนือคุณจะเห็นธารน้ำแข็งมิร์ดาลสโจกุล ส่วนทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกคุณจะมองเห็นเรนิสแดรงเกอร์ (Reynisdrangar) และชายฝั่งทางใต้ยาวไปจรดเมืองเซลฟอสส์ (Selfoss)

อย่างไรก็ตามบางส่วนของดิร์โอลาเอย์นั้นปิดในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนเพื่อที่จะไม่ให้มนุษย์เข้าไปรบกวนเหล่านกน้อยที่มาทำรัง นักท่องเที่ยวที่ตั้งใจมาดูนกสามารถพบเห็นนกหลากชนิดได้ที่นี่ อาทิ นกพัฟฟิน แต่นักท่องเที่ยวก็ควรระมัดระวังพวกนกนางนวลอาร์กติกด้วยเพราะนกชนิดนี้ขี้หวงและอาจจะบินมาจิกได้ยามที่พวกมันต้องการปกป้องรัง



หาดทรายดำเรย์นิสฟยารา              

หาดทรายดำเรย์นิสฟยารา เสาหินในทะเลโดดเด่นอยู่กลางภาพ

เรย์นิสฟยารา (Reynisfjara) เป็นหาดทรายดำที่ตั้งอยู่ระหว่างหมู่บ้านวิก อี มิร์ดาล (Vík í Mýrdal) และดิร์โอลาเอย์ และอยู่ห่างจากเรคยาวิกประมาณ 180 กิโลเมตร เรย์นิสฟยาราเป็นตัวอย่างของชายฝั่งภูเขาไฟที่เป็นลักษณะเฉพาะของชายฝั่งในไอซ์แลนด์และเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับผู้ที่มาทัวร์ชายฝั่งทางใต้



จากบริเวณนี้นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายความเก่าแก่และความลึกลับจากบรรยากาศรอบๆ ที่เป็นวิวของภูเขา ด้านหน้าของหน้าผาสูงตระหง่าน และหินที่ก่อตัวเป็นรูปทรงต่างๆ ในปี 1991 เนชั่นแนล จีโอกราฟิก โหวตให้เรย์นิสฟยาราเป็นหนึ่งใน 10 ชายหาดที่สวยที่สุดในโลกสำหรับชายหาดที่ไม่ใช่หาดเมืองร้อน

หินเรนิสแดรงเกอร์ เป็นหนึ่งในภาพสัญลักษณ์ประจำไอซ์แลนด์

โดยมีเรนิสแดรงเกอร์ (Reynisdrangar) เป็นแท่งหินบะซอลต์สูง 15 เมตรที่มีความโดดเด่นสะดุดตาตั้งตระหง่านอยู่ในมหาสมุทรห่างจากชายฝั่งออกไปไม่ไกล และมีตำนานเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับเรนิสแดรงเกอร์ บางเรื่องก็ว่ากันว่าหินนี้เกิดจากยักษ์โทรลล์ 3 ตนที่แข็งกลายเป็นหินอยู่ใต้แสงแดดเพราะพยายามยกเรือออกจากน้ำ



อีกเรื่องก็ว่าหินนี้คือร่องรอยของเสากระโดงของเรือ 3 ลำที่หายสาบสูญไป ในขณะที่อีกเรื่องหนึ่งเชื่อว่าหินนี้คือส่วนที่เหลืออยู่ของยักษ์โทรลที่ถูกโทรลช่างแค้นตนหนึ่งสาบให้แข็งเป็นหินหลังจากที่ทราบว่าโทรลกลุ่มนี้ไปฆ่าภรรยาของตน แต่ไม่ว่าเรื่องราวจะเป็นมาอย่างไรก็ตาม ที่แน่ๆ คือเรย์นิสแดรงเกอร์เป็นบ้านของนกทะเลจำนวนมากที่มาทำรัง ซึ่งมีทั้งนกพัฟฟิน นกฟูลมาร์ และนกกิลเลอร์มอต

เมื่อเดินไปตามชายฝั่ง นักท่องเที่ยวจะสังเกตเห็นเสาหินหกเหลี่ยมเรียงตัวกันเป็นกำแพงประดับที่ด้านข้างของหน้าผาไปตามความยาวของหาดเรย์นิสฟยารา เสาหินบะซอลต์เหล่านี้เรียกว่าการ์ดาร์ (Garðar) และมีลักษณะคล้ายคลึงกับ Giant's Causeway ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของไอร์แลนด์

หาดทรายดำเรย์นิสฟยาราอาจมีอันตรายถึงชีวิต

การ์ดาร์ (Garðar) ก่อตัวขึ้นจากการระเบิดที่เกิดในอดีตกาล และเมื่อลาวาเริ่มเย็นตัวลงตามระยะเวลาที่ผ่านไปก็ทำให้เกิดเป็นเสาที่เรียงตัวติดกัน และการมาเยือนสถานที่แห่งนี้ยังทำให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการทางธรณีวิทยาของไอซ์แลนด์ด้วย

แต่ต้องขอเตือนนักท่องเที่ยวที่จะไปที่เรย์นิสฟยาราด้วยว่าหาดแห่งนี้เป็นสถานที่ที่มีอันตรายอยู่เหมือนกัน เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมามักจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอยู่เสมอ เนื่องจากมี “คลื่นทีเผลอ” ที่มักซัดเข้าฝั่งมาอย่างรวดเร็ว



คลื่นพวกนี้มีพละกำลังรุนแรงมากและกระแสน้ำบริเวณนี้ก็แรงและหนาวเย็นมากเช่นกัน นั่นหมายความว่าถ้าคุณถูกคลื่นซัดลงน้ำไปก็คงจะแย่ไม่ว่าคุณจะเป็นคนดวงแข็งขนาดไหนก็ตาม

ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต้องไม่ประมาทไว้ก่อนจะดีกว่า นักท่องเที่ยวควรสังเกตป้ายเตือนและอยู่ให้ห่างจากหาดมากที่สุด

หมู่บ้านวิก อี มิร์ดาล                    

วิก ตั้งอยู่ติดกับหาดเรย์นิสฟยารา

หมู่บ้านวิก อี มิร์ดาล (Vík í Mýrdal) เป็นหมู่บ้านริมชายหาดอยู่ทางชายฝั่งตอนใต้ของไอซ์แลนด์ ที่นี่มักเป็นจุดแวะพักทานอาหารกลางวันและเป็นแหล่งช้อปปิ้งของฝากสำหรับนักท่องเที่ยวที่มากับคณะทัวร์



หมู่บ้านแห่งนี้มีประชากรอาศัยอยู่ราว 300 คน และเป็นชุมชนที่มีคนหนาแน่นมากที่สุดในระยะ 70 กิโลเมตรแล้ว เพราะอย่างนี้หมู่บ้านวิก อี มิร์ดาล จึงกลายเป็นเหมือนจุดแวะพักและศูนย์กลางของสิ่งต่างๆ ในแถบตั้งแต่สโกการ์ (Skógar) ไปจนถึงที่ราบเศษหินธารน้ำแข็งมิร์ดาลส์ซานดูร์ (Mýrdalssandur glacial outwash plain).

หมู่บ้านวิก อี มิร์ดาล ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของธารน้ำแข็งมิร์ดาลส์โจกุล (Mýrdalsjökull) ซึ่งหมายความว่ามันอยู่ในเขตที่อาจได้รับอันตรายจากภูเขาไฟคัทลา (Katla) ที่อยู่ใต้ผืนน้ำแข็งด้วยเหมือนกัน ภูเขาไฟคัทลาไม่ได้ระเบิดมาตั้งแต่ปี 1918 แล้ว​ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่ามันมีโอกาสสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะเกิดการระเบิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามก็น่าจะอีกหลายปีกว่าจะเกิดการระเบิดครั้งต่อไป




เชื่อกันว่าหากภูเขาไฟคัทลาระเบิดจะทำให้ธารน้ำแข็งละลายเข้าท่วมเมืองได้ทั้งเมืองเลยทีเดียว ยกเว้นแต่ที่โบสถ์หลังคาแดงแห่งวิก อี มิร์ดาล ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาในตำแหน่งที่สูงที่สุดของเมือง 

และเพราะสาเหตุนี้ชาวบ้านในละแวกนี้จึงมักจะซ้อมหนีภัยภูเขาไฟระเบิดไปที่โบสถ์แห่งนี้อยู่เป็นประจำ และหากเกิดเหตุภูเขาไฟระเบิดขึ้นจริงๆ ทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักท่องเที่ยวที่เข้าพักอยู่ในโรงแรมที่มีอยู่จำนวน 1,400 ห้องในเมืองนี้จะได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้า

แต่อย่างไรก็ตามภูเขาไฟคัทลาไม่ได้ระเบิดมานานกว่า 100 ปีแล้ว และระหว่างที่มันยังสงบอยู่นี้ นักท่องเที่ยวที่มาที่วิกสามารถเข้าไปเที่ยวชมได้ตลอดทั้งปีทั้งที่ตัวภูเขาไฟคัทลาเองและถ้ำน้ำแข็งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในธารน้ำแข็งที่อยู่ด้านบนของภูเขาไฟ



หุบเขาฟยาดรากยูฟูร์                         

หุบเขาฟยาดรากยูฟูร์ สวยงามจับใจแม้ว่าชื่อจะออกเสียงยากหน่อยก็ตาม

ไอซ์แลนด์ตอนใต้มีหุบเขาฟยาดรากยูฟูร์ (Fjaðrárgljúfur) ซึ่งชื่อออกเสียงได้ยากมากสำหรับชาวต่างชาติ [Fyath-raor-glyu-fur] หุบเขาแห่งนี้มีความลึกประมาณ 100 เมตร มีผนังสูงชันและระหว่างเส้นทางที่แคบนั้นมีแม่น้ำที่มีความยาว 2 กิโลเมตรไหลผ่าน  

หุบเขาฟยาดรากยูฟูร์เปลี่ยนแปลงไปมากในระยะเวลา 9,000 ปีนับแต่มันถือกำเนิดขึ้น ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวสามารถสำรวจหุบเขาแห่งนี้ได้ด้วยการเดินเท้าไปตามเส้นทางเดินที่ด้านบนหรือจะเดินเข้าไปในหุบเขาเลยก็ได้ (แต่ก็ต้องสมบุกสมบันหน่อย)




หินชั้นล่างสุดของฟยาดรากยูฟูร์เป็นพาลาโกไนต์ที่มีมาตั้งแต่ยุคน้ำแข็งเมื่อประมาณ 2 ล้านปีก่อน และที่หุบเขานี้มีรูปทรงคดเคี้ยวแบบแปลกๆ เพราะมีแม่น้ำฟยาดรา (Fjaðrá) ไหลผ่าน โดยแม่น้ำสายนี้มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ภูเขาเกร์ลันด์เซริน (Geirlandshraun) 

นักท่องเที่ยวต้องเดินไปตามเส้นทางคดเคี้ยวที่ทำไว้ให้ที่ด้านบนของหุบเขาเท่านั้น เพราะการออกนอกเส้นทางอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อต้นหญ้าและมอสที่อยู่ในบริเวณได้

หมู่บ้านเคิร์กยูแบร์ยาร์กเลาสเทอร์                        

หมู่บ้านเคิร์กยูแบร์ยาร์กเลาสเทอร์ เป็นสถานที่อยู่อาศัยและทำเกษตรกรรมบนชายฝั่งทางใต้ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานWikimedia. Creative Commons. Gino maccanti.  

เคิร์กยูแบร์ยาร์กเลาสเทอร์ (Kirkjubæjarklaustur) หรือที่เรียกกันว่า “กเลาสเทอร์” เป็นหมู่บ้านขนาดเล็กที่อยู่บนชายฝั่งทางใต้ของไอซ์แลนด์ โดยตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวิก อี มิร์ดาล (Vík í Mýrdal) ในเขตสคากร์เอาแรพพูร์ (Skaftárhreppur) 

หมู่บ้านแห่งนี้มีประชากรอยู่ประมาณ 500 คน และเป็นเพียงจุดเดียวบนเส้นทางระหว่างวิก (Vík) กับเฮิฟน์ (Höfn) ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ปั๊มน้ำมัน ซุปเปอร์มาร์เก็ต ไปรษณีย์ และธนาคาร



เคิร์กยูแบร์ยาร์กเลาสเทอร์มีประวัติความเป็นมายาวนานในด้านวัฒนธรรมของชาวไอซ์แลนด์ จึงไม่แปลกที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ได้รับความสนใจมากมายจากบรรดานักท่องเที่ยว

เริ่มจากหมู่บ้านเคิร์กยูแบร์ยาร์กเลาสเทอร์เคยเป็นสถานที่อยู่อาศัยของพวกนักบวชชาวไอริชมายาวนานก่อนที่ชาวนอร์สจะอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเสียอีก หลังจากนั้นในปี 1186 ก็เป็นสถานที่ตั้งคอนแวนต์ของแม่ชีเบนเนดิกทีนจนถึงสมัยปฏิรูปในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16.

ในสมัยโบราณหมู่บ้านแห่งนี้มีชื่อว่าเคิร์กยูแบร์ (Kirkjubær) ซึ่งหมายถึงฟาร์มของโบสถ์ และถูกใช้เป็นสถานที่ที่บาทหลวงใช้สวด “ไฟร์ เซอร์มอน” ซึ่งว่ากันว่าบทสวดนี้ช่วยหยุดการระเบิดอย่างรุนแรงของภูเขาไฟลากิ (Laki) ในบริเวณไฮแลนด์ของไอซ์แลนด์ในปี 1783 ได้ ทำให้โบสถ์ของเมืองปลอดภัยจากอันตราย

ปัจจุบันนี้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมอนุสรณ์สถานของหอสวดมนต์ที่สร้างขึ้นในปี 1924 เพื่อเป็นเครื่องพิสูจน์เกี่ยวกับเหตุการณ์เหลือเชื่อในครั้งนั้น



เคิร์กยูโกลฟีด หรือ “พื้นโบสถ์”                    

แม้จะดูเหมือนเป็นของที่สร้างขึ้นแต่ที่จริงแล้วเคิร์กยูโกลฟีดเกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติFlickr. เครดิต: Andrew Bowden. 

เคิร์กยูโกลฟีด หรือ “พื้นโบสถ์” เป็นกลุ่มเสาหินบะซอลต์ที่เรียงตัวกันบนพื้นที่ขนาด 80 ตารางเมตรบนทุ่งที่อยู่ทางตะวันออกของหมู่บ้านเคิร์กยูแบร์ยาร์กเลาสเทอร์ ซึ่งที่นี่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากการที่ลาวาเย็นตัวลง เกิดการหดตัว และแตกออกเป็นเสาทรงหกเหลี่ยม

และแม้ว่าจะไม่เคยมีโบสถ์อยู่ในบริเวณนี้จริงๆ เลยก็ตาม แต่พื้นที่ตรงนี้ก็มีประวัติที่เกี่ยวข้องกับลัทธิผีสางเวทมนตร์ฝังรากลึกอยู่ ว่ากันว่าเคิร์กยูแบร์ (Kirkjubær) เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มากของชาวคริสเตียนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในยุคแรก จนขนาดที่พวกเพแกนหรือพวกนอกรีตไม่สามารถเข้ามาเหยียบได้



ถ้าไปเที่ยวชายฝั่งทางใต้ของไอซ์แลนด์ไม่ควรพลาดแวะที่เคิร์กยูโกลฟีดWikimedia. Creative Common. เครดิต: Tillea.

จากตำนานเชื่อว่าฤาษีชาวไอริช หรือพาปาร์ (Papar) ซึ่งเป็นพวกแรกๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน เป็นผู้ที่ร่ายมนตร์ปกปักษ์รักษาบริเวณนี้เอาไว้ และมีอยู่อีกตำนานที่บอกว่าฮิลดีร์ อีสเตนสัน (Hildir Eysteinsson) ซึ่งเป็นพวกนอกรีตวัยรุ่นคนหนึ่งที่ไม่เชื่อเรื่องนี้ และเมื่อเขาก้าวเท้าเข้าไปที่ในเคิร์กยูแบร์เขาถึงกับล้มลงและเสียชีวิตในทันที

(แต่ปัจจุบันมนตร์สะกดพวกนี้ได้คลายไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพแกน คนนอกรีต หรือจะเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอะไรก็ตามสามารถเข้าไปที่เคิร์กยูแบร์ได้ทุกเมื่อที่ต้องการ)

ดแวกฮมมาร์ หรือ “ผาคนแคระ”               

ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคนสมัยก่อนเชื่อว่าสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติเป็นผู้สร้างดแวกฮมมาร์เครดิต: Jennifer Boyer. 

ทางตอนใต้ของไอซ์แลนด์ ห่างออกไปจากหมู่บ้านเคิร์กยูแบร์ยาร์กเลาสเทอร์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของดแวกฮมมาร์ หรือผาคนแคระ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีเสาหินบะซอลต์หกเหลี่ยมตั้งอยู่ ที่นี่ถือว่าเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติที่ได้รับความคุ้มครองด้วย

ดแวกฮมมาร์เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าที่ไอซ์แลนด์นั้นมีธรรมชาติที่ลึกลับเป็นปริศนา และไหนจะยังมีชื่อของสถานที่ซึ่งได้มาจากตำนานเก่าแก่อีก



จากนิทานพื้นบ้าน ดแวกฮมมาร์ครั้งหนึ่งนั้นเคยเป็นที่อยู่อาศัยของพวกคนแคระ เอลฟ์ คนที่หลบซ่อนตัวอยู่ (Hidden folks) และสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติอีกหลายชนิด และสิ่งมีชีวิตเหล่านี้นอกจากจะมีเรื่องราวแปลกๆ แล้วยังเป็นส่วนสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงมุมมองของชาวไอซ์แลนด์ที่มีต่อคริสต์ศาสนาในฐานะผู้นับถือศาสนาที่มีพระเจ้าเพียงองค์เดียว คนที่หลบซ่อน (Hidden folks) ในศาสนาคริสต์หมายถึงไลต์เอลฟ์ หรือเอลฟ์สว่างในตำนานพื้นบ้านของชาวไอซ์แลนด์

นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนดแวกฮมมาร์ต้องให้ความเคารพกับสถานที่แห่งนี้ด้วยFlickr. เครดิต: Stéphanie Perrin. 

เหตุผลที่ทำให้ชาวไอซ์แลนด์มีความเชื่อเช่นนี้เพราะมีตำนานพื้นบ้านเรื่องหนึ่งเล่าว่าในปี 1904 มีหญิงสาวนางหนึ่งบอกว่าเธอได้ยินเสียงคนร้องเพลงแว่วมาจากดแวกฮมมาร์ ซึ่งเมื่อมองไปก็ไม่เห็นว่ามีผู้ใดอยู่แถวนั้น และเมื่อตั้งใจฟังดีๆ เธอกลับได้ยินชัดเจนขึ้นว่าเพลงนั้นเป็นเพลงสวด “The Father in Heaven” ของศาสนาคริสต์

จากคำบอกเล่าเชื่อกันว่าสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติเหล่านี้เป็นผู้สร้างดแวกฮมมาร์ขึ้น ซึ่งนั่นเป็นเพราะชาวไอซ์แลนด์ในสมัยโบราณนั้นยังไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายการปรากฏของสิ่งต่างๆ 

แต่อันที่จริงแล้วก็เป็นเช่นเดียวกันกับที่เคิร์กยูโกลฟีด (Kirkjugólfið) คือเสาหินบะซอลต์เกิดขึ้นจากการที่ลาวาหดตัวเมื่อตอนที่เริ่มเย็นตัวลงจนกระทั่งเกิดเป็นรอยแยกลึกบนหินซึ่งมีลักษณะพิเศษขึ้น

เขตอนุรักษ์ธรรมชาติสกัฟตาเฟลล์                  

เขตอนุรักษ์ธรรมชาติสกัฟตาเฟลล์อยู่ใน Öræfasveit ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของ Austur-Skaftafellssýslaภาพจาก ทัวร์สกัฟตาเฟลล์ที่ออกเดินทางจากเรคยาวิก 

สกัฟตาเฟลล์เป็นพื้นที่อนุรักษ์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของไอซ์แลนด์ โดยตั้งอยู่ในเขตเออไรวิ (Öræfi) หรือ “The Wasteland” ที่แปลว่าพื้นที่รกร้างว่างเปล่า สกัฟตาเฟลล์เคยเป็นอุทยานแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นในปี 1967 แต่พอเดือนมิถุนายน 2008 ได้ถูกรวมเข้ากับอุทยานแห่งชาติวัทนาโจกุลที่มีขนาดใหญ่มากกว่า



สกัฟตาเฟลล์เดิมทีแล้วมีคนเข้ามาอาศัยอยู่และทำฟาร์ม ตั้งแต่สมัยที่เริ่มมีการอพยพเข้ามาในไอซ์แลนด์ใหม่ๆ และยังถูกใช้เป็นสถานที่พบปะประชุมระหว่างหัวหน้าเผ่าต่างๆ อีกด้วย จนกระทั่งเกิดการระเบิดของเออไรวาโจกุลล์ (Öræfajökull) เมื่อปี 1362 และชุมชนบริเวณนี้ถูกกวาดล้างไปจนหมดสิ้น ทำให้กลายเป็นที่ว่างเปล่าปราศจากผู้คนอยู่อาศัยมานาน จนได้รับการขนานนามว่าเดอะเวสต์แลนด์หรือพื้นที่รกร้างตั้งแต่นั้น

หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นคนก็ยังมีความพยายามที่จะทำเกษตรกรรมในพื้นที่อยู่บ้าง แต่ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคที่ยากเกินกว่าจะเอาชนะได้ ตั้งแต่สภาพดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์ไปจนถึงน้ำจากธารน้ำแข็งไหลเข้าท่วมและยังถูกเถ้าจากภูเขาไฟกรีมสเวิท์น (Grímsvötn) ที่อยู่ใกล้ๆ มาปกคลุมด้วย ต่อมาผู้คนจึงล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำฟาร์มในบริเวณนี้ตั้งแต่ปี 1988 เป็นต้นมา

ปัจจุบันพื้นที่แถวนี้มีความงดงามอย่างไม่น่าเชื่อและคนก็นิยมมาเดินขึ้นเขาในบริเวณนี้ด้วย โดยมีทั้งยอดเขาฮวานนาดาลส์ฮนูคูร์ (Hvannadalshnúkur) ที่สูงที่สุดในประเทศ น้ำตกมอร์ส์เอาฟอสส์ (Morsárfoss) ที่สูงที่สุดในประเทศ และยังมีวิวสวยๆ ของต้นเบิร์ชสีเขียวที่ตัดกับสีของธารน้ำแข็งวัทนาโจกุลอันยิ่งใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ติดกันอีก

แม้ว่าเส้นทางเดินขึ้นเขาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจะเป็นเส้นทางขึ้นไปยังธารน้ำแข็ง แต่จากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวถ้าเดินขึ้นเขาไปไม่นาน ก็จะได้เจอน้ำตกสวาร์ติิฟอสส์ (Svartifoss) อันสวยงาม

สกัฟตาเฟลล์มีสถานที่ตั้งแค้มป์ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และคาเฟ่เล็กๆ อยู่หนึ่งแห่ง ซึ่งสถานที่เหล่านี้ก็ได้รับความนิยมมากเช่นเดียวกัน



อุทยานแห่งชาติวัทนาโจกุล           

อุทยานแห่งชาติวัทนาโจกุลเต็มไปด้วยภูเขา ทางลาดตามธรรมชาติและธารน้ำแข็งส่องประกายระยิบระยับWikimedia. Creative Commons. Andreas Tille. 

วัทนาโจกุล (Vatnajökull) เป็นธารน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไอซ์แลนด์และในยุโรป โดยกินพื้นที่ 8,100 ตารางกิโลเมตร และมีความกว้างเฉลี่ย 400-600 เมตร ซึ่งความกว้างมากที่สุดอยู่ที่ประมาณ 1,000 เมตรและมีติ่งของธารน้ำแข็งที่แตกต่างกันกว่า 30 แบบให้คุณได้เห็นความหลากหลายของกลาเซียร์ด้วย

อุทยานแห่งชาติวัทนาโจกุลกินพื้นที่ประมาณ 11% ของประเทศ ครอบคลุมหุบเขา ภูเขา และแม้กระทั่งภูเขาไฟหลายแห่งและทำให้เข้าใจได้เป็นอย่างดีว่าทำไมไอซ์แลนด์ถึงถูกเรียกว่าเป็น​ “ดินแดนแห่งน้ำแข็งและไฟ”



ภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่หลายลูกของไอซ์แลนด์ซ่อนตัวอย่างสงบอยู่ใต้ธารน้ำแข็งแห่งนี้ รวมทั้งภูเขาไฟกรีมสเวิท์น (Grímsvötn) ภูเขาไฟเออไรวาโจกุลล์ (Öræfajökull) และภูเขาไฟบาร์ดาร์บุนกา (Bárðarbunga) ด้วย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าในอีกกว่าครึ่งศตวรรษข้างหน้าจึงจะเป็นเวลาที่มีกิจกรรมภูเขาไฟเกิดขึ้นในเขตวัทนาโจกุล

ด้านในถ้ำน้ำแข็งที่ไอซ์แลนด์

ปัจจุบันวัทนาโจกุลเป็นหนึ่งในสามอุทยานแห่งชาติของไอซ์แลนด์ และจัดว่าเป็นอุทยานฯ ที่มีขนาดใหญ่มากที่สุด ซึ่งได้รวมเอาอุทยานแห่งชาติสกัฟตาเฟลล์ (ตั้งแต่ปี 1967) และโจกุลส์เอาร์กยูฟูร์ (Jökulsárgljúfur) (ตั้งแต่ปี 1973) เข้าไว้ในพื้นที่ด้วย

นอกจากนี้อุทยานแห่งชาติที่มีชื่อเสียงในไอซ์แลนด์ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติธิงเวลลีย์ (Þingvellir) ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเรคยาวิก (Reykjavík) ราว 40 นาที และอุทยานแห่งชาติสไนเฟลล์โจกุล  (Snæfellsjökull) วัทนาโจกุลนั้นได้รับการจัดตั้งให้เป็นอุทยานฯ ในปี 2008 เพื่อคุ้มครองสัตว์ป่าที่มีอยู่หลากหลายชนิดในพื้นที่



อุทยานฯ วัทนาโจกุลนั้นมีขนาดใหญ่มากและมีกิจกรรมให้ทำมากมายนับไม่ถ้วน แต่การไปเที่ยวถ้ำน้ำแข็งในฤดูหนาวและการปีนธารน้ำแข็งซึ่งสามารถทำได้ตลอดทั้งปีนั้นถือเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานฯ อยู่ในบริเวณไฮแลนด์ของไอซ์แลนด์ ดังนั้นการเข้าถึงพื้นที่ที่อยู่ห่างออกไปในอุทยานฯ นั้นจำเป็นต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ



ทะเลสาบธารน้ำแข็งโจกุลซาลอน               

ดูเหมือนว่าทะเลสาบธารน้ำแข็งโจกุลซาลอนจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับหนึ่งในไอซ์แลนด์

ทะเลสาบธารน้ำแข็งโจกุลซาลอน (Jökulsárlón) มีทิวทัศน์ที่งดงามมากที่สุดในไอซ์แลนด์ พื้นที่อันเงียบสงบสวยงามนี้ประกอบไปด้วยภูเขาน้ำแข็ง แมวน้ำจอมอยากรู้อยากเห็น และวิวสวยๆ ของผืนน้ำแข็งและภูเขาที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติวัทนาโจกุล ถ้าใครได้ไปเยือนสถานที่แห่งนี้ก็จะเข้าใจชัดเจนเลยว่าทำไมโจกุลซาลอนถึงได้รับฉายาว่าเป็น “มงกุฎอัญมณีแห่งไอซ์แลนด์”



หากขับรถมาจากเรคยาวิกเมืองหลวงจะใช้เวลาประมาณ 4.5 ชั่วโมงในกรณีที่ไม่แวะที่ไหนเลย นั่นหมายความว่าสามารถเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับได้โดยใช้เวลาเดินทางรวม 9 ชั่วโมง แต่คุณต้องแน่ใจนะว่าคุณจะไม่อยากแวะที่ไหนระหว่างทาง

ทะเลสาบแห่งนี้มีการขยายขนาดอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเป็นทะเลสาบที่เกิดขึ้นจากก้อนน้ำแข็งขนาดมหึมาจากธารน้ำแข็ง และปรากฏการณ์โลกร้อนก็ยิ่งช่วยเร่งให้น้ำแข็งละลายเร็วขึ้นอีก ตอนนี้โจกุลซาลอนเป็นทะเลสาบที่มีความลึกมากที่สุดในไอซ์แลนด์และมีขนาดถึง 18 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเพิ่มขึ้นจากขนาดเมื่อตอนที่ทะเลสาบแห่งนี้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อราวช่วงปี 1934-1935 อยู่มาก ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970 ทะเลสาบแห่งนี้ได้เพิ่มขนาดเป็น 4 เท่าตัวแล้ว 



ทะเลสาบธารน้ำแข็งโจกุลซาลอนใต้แสงสวยยามพระอาทิตย์ตก

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เลือกที่จะพักค้างคืนในที่พักตามชายฝั่งทางใต้ ทั้งที่เฮิฟน์ (Höfn) วิก อี มิร์ดาล์ (Vík í Mýrdal) และที่ควอลส์เวิลลูร์ (Hvolsvöllur)

แต่ก็มีคนที่นิยมมาเที่ยวเพียงวันเดียวอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่มีแสงอาทิตย์จากพระอาทิตย์เที่ยงคืนส่องสว่างตลอด 24 ชั่วโมงทำให้สามารถมาเที่ยวได้ตลอดทั้งวัน

เพียงแต่ต้องควบคุมเวลาให้ดีถ้าจะมาเที่ยวแบบไป-กลับภายในวันเดียวเพราะว่าบริเวณนี้มีอะไรให้เที่ยวเยอะมากจริงๆ

และถ้าจะเปรียบโจกุลซาลอนเป็น “มงกุฎอัญมณี” ทะเลสาบแห่งนี้ก็คงจะเปรียบเหมือนกับเป็น “ของขวัญ” ได้เช่นเดียวกันโดยมันเป็นเสมือนกับสีทองที่ปลายสายรุ้งแห่งเส้นทางชายฝั่งทางใต้ของไอซ์แลนด์

หาดไดมอนด์บีช                    

หาดไดมอนด์บีชเหมาะสำหรับมาถ่ายภาพเป็นที่สุด

เพียงเดิน 5 นาทีจากทะเลสาบธารน้ำแข็งโจกุลซาลอน นักท่องเที่ยวก็จะพบกับหาดไดมอนด์บีชซึ่งมีภูเขาน้ำแข็งถูกพัดมาเกยตื้นกระจัดกระจายอยู่ตลอดแนวชายฝั่งภูเขาไฟสีดำสนิท



หาดไดมอนด์บีชเป็นสถานที่โปรดของตากล้องที่หลงใหลในการเก็บภาพคอนทราสต์ของน้ำแข็งสีฟ้าอ่อนบนชายหาดภูเขาไฟสีดำสนิท

ภูเขาน้ำแข็งที่ธรรมชาติเป็นผู้ปั้นแต่งขึ้นนั้นงามแบบไม่ซ้ำกันเลย ทำให้แต่ละภาพที่ถ่ายออกมาแต่ละภาพนั้นมีความแตกต่างกันไป ยิ่งมีกระแสน้ำในทะเลสาบที่ไหลเอื่อยประกอบด้วยทำให้ที่นี่เหมาะกับการถ่ายภาพแบบ time lapse เป็นอย่างยิ่ง เพราะจะได้ภาพสวยๆ ที่สื่อถึงธรรมชาติที่งดงามแปลกตาไม่เหมือนที่อื่นเลย



เฮิฟน์ อี ฮอร์นาวิร์ดิ          

ท่าเรือที่เฮิฟน์ อี ฮอร์นาวิร์ดิ   Wikimedia. Creative Commons. เครดิต: Debivort. 

เฮิฟน์ อี ฮอร์นาวิร์ดิ (Höfn í Hornafirði) หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่าเฮิฟน์ เป็นหมู่บ้านชาวประมงในทางตะวันออกเฉียงใต้ของไอซ์แลนด์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับฟยอร์ดฮอร์นาฟยอร์ดูร์ (Hornafjörður) แต่ในช่วงระหว่างปี 1994 ถึง 1998 หมู่บ้านแห่งนี้มีชื่อว่าฮอร์นาฟยาร์ดาร์แบร์ (Hornafjarðarbær) ซึ่งแปลว่าท่าเรือ

ปัจจุบันหมู่บ้านแห่งนี้เป็นชุมชนเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของภาคตะวันออกเฉียงใต้ของไอซ์แลนด์และมีวิวทิวทัศน์สวยๆ ของธารน้ำแข็งวัทนาโจกุล ภูมิประเทศแถวนี้แวดล้อมไปด้วยชายหาดตื้นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีแม่น้ำธารน้ำแข็ง และเกาะเล็กเกาะน้อยอีกหลายแห่งที่ทอดตัวอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน เช่น มิกเลย์ (Mikley) และโครกาเลาตูร์ (Krókalátur)

เฮิฟน์มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย เหมาะสำหรับการแวะระหว่างเดินทางมาเยือนทางใต้ของไอซ์แลนด์Wikimedia. Creative Commons. เครดิต: Diego Cupolo.

สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกนั้น เฮิฟน์มีมากมายเกินกว่าที่เมืองขนาดนี้จะมีได้ (มีประชากรประมาณ 2,100 คน) โดยมีสนามบิน 1 แห่ง ธนาคาร 2 แห่ง โรงเรียน 4 แห่ง ร้านทำผมอีก 4 ร้าน ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านดอกไม้ ร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ ฟิตเนส และสนามกอล์ฟ อย่างละ 1 แห่ง และยังมีร้านอาหารและโรงแรมอีกจำนวนนับไม่ถ้วน 

นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ธารน้ำแข็งเฮิฟน์ (Höfn Glacier Museum) ได้ด้วย ที่นั่นมีนิทรรศการจัดแสดงหลากหลาย โดยนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับธรณีวิทยา ระบบนิเวศน์และประวัติศาสตร์

หรือจะไปเที่ยวที่กัมลาบูด (Gamlabúð) ซึ่งเป็นบ้านเก่าแก่ที่สุดในหมู่บ้านที่ยังคงใช้งานอยู่จนถึงทุกวันนี้ และถ้าคุณไม่ได้บังเอิญทานมังสวิรัติหรือวีแกน ก็ต้องไม่พลาดชิมเมนูกุ้งแลงกูสทีน ซึ่งเป็นเมนูขึ้นชื่อของเฮิฟน์ที่ทุกร้านในเมืองต้องมีขาย กุ้งชนิดนี้โด่งดังมากขนาดชาวเมืองต้องมีเทศกาลแลงกูสทีนที่จัดขึ้นเป็นประจำในทุกฤดูร้อนเลยทีเดียว



ทัวร์ที่จัดมาเที่ยวบนชายฝั่งทางใต้มักพานักท่องเที่ยวมาพักค้างคืนที่เฮิฟน์ อี ฮอร์นาวิร์ดิ โดยเฉพาะแพ็กเกจที่เดินทางไปทะเลสาบธารน้ำแข็งโจกุลซาลอน และแพ็กเกจที่มุ่งหน้าขึ้นไปทางตะวันออกแทนที่จะกลับลงไปยังเมืองหลวงทางทิศตะวันตก



คุณเคยไปเที่ยวชายฝั่งทางตอนใต้ของไอซ์แลนด์แล้วหรือยัง ถ้าเคยไปแล้ว สถานที่ไหนที่คุณประทับใจมากที่สุด คุณมีทิปที่เป็นประโยชน์อยากแบ่งปันให้กับนักท่องเที่ยวที่กำลังจะเดินทางไปเที่ยวทางใต้ของไอซ์แลนด์บ้างหรือไม่ คุณสามารถพิมพ์ข้อความหรือคำถามที่สงสัยไว้ในช่องคอมเมนต์ที่ด้านล่างนี้ได้เลย

บทความที่ได้รับความนิยม

บทความอื่นที่น่าสนใจ

Link to appstore phone
ติดตั้งแอปท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไอซ์แลนด์

ดาวน์โหลดตลาดการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไอซ์แลนด์ลงในโทรศัพท์ของคุณเพื่อจัดการการเดินทางทั้งหมดของคุณได้ในที่เดียว

สแกนรหัส QR นี้ด้วยกล้องในโทรศัพท์ของคุณแล้วกดลิงก์ที่ปรากฏขึ้นเพื่อเพิ่มตลาดการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไอซ์แลนด์ไว้ในกระเป๋าของคุณ ป้อนหมายเลขโทรศัพท์หรือที่อยู่อีเมลของคุณเพื่อรับ SMS หรืออีเมลพร้อมลิงก์ดาวน์โหลด